Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำหนดนโยบาย การบริหารงบประมาณ และการบริหารงานบุคคลตามอำนาจหน้าที่ภายใต้กรอบข้อกฎหมายและในทางปฏิบัติ รวมถึงศึกษาเพื่อทราบปัญหาและอุปสรรณด้านความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคตะวันออก 7 จังหวัดในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าว กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 235 แห่งในภาคตะวันออก ซึ่งได้จากการสุ่มแบบชั้นภูมิตามสัดส่วน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 1) แบบสอบถามเชิงปริมาณเรื่องความเป็นอิสระทางการบริหารด้านการกำหนดนโยบาย การบริหารงบประมาณ และการบริหารงานบุคคล แบบสอบถามมีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การแจกแจงความถี่, ค่าร้อยละ, ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ 2) แบบสัมภาษณ์ โดยการใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก
ผลการวิจัยพบว่า ระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นอิสระทางการบริหารขององค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ด้านการกำหนดนโยบาย การบริหารงบประมาณ และการบริหารงานบุคคลมีความเป็นอิสระในระดับปานกลาง ระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับเป็นอิสระทางการบริหารของเทศบาลด้านการกำหนดนโยบายและการบริหารงานบุคคล มีความเป็นอิสระในระดับปานกลาง การบริหารงบประมาณ มีความเป็นอิสระค่อนข้างมาก ระดับความคิดเห็นความเป็นอิสระทางการบริหารขององค์กรการบริหารส่วนตำบล (อบต.) ด้านการกำหนดนโยบาย มีความเป็นอิสระในระดับปานกลาง การบริหารงาบประมาณ และการบริหารงานบุคคล มีความเป็นอิสระในระดับค่อนข้างมาก ส่วนปัญหาการถ่ายโอนภารกิจได้ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ไม่มีอิสระในการดำเนินภารกิจ งบประมาณ และบุคลากร และเกิดจากอุปสรรคด้านกฎระเบียบที่ล้าสมัยและการแทรกแซงจากกลุ่มอำนาจท้องถิ่น ทำให้อำนาจการตัดสินใจและอำนาจในการดำเนินงานภารกิจที่ถ่ายโอนนั้นเป็นไปอย่างจำกัด
ข้อเสนอแนะที่ได้จากการครั้งนี้แบ่งได้เป็น ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่ หนึ่ง ส่วยราชการจะต้องถ่ายโอนอำนาจและภารกิจให้ท้องถิ่น พร้อมกับให้คำชี้แนะและดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีศักยภาพในการจัดทำบริการสาธารณะ สอง การจัดการความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างส่วนราชการส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่นเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการจนนำไปสู่ความไม่มีอิสระของท้องถิ่น สาม สร้างมาตรการเพื่อไม่ให้กลุ่มอำนาจท้องถิ่นเข้ามาแทรกแซงการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจนนำไปสู่ความไม่มีอิสระในการบริหาร และ สี่ สร้างมาตรการเพื่อการถ่วงดุลระหว่างข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองที่มีประสิทธิภาพและ ข้อเสนอแนะในทางวิชาการ ได้แก่ หนึ่ง การเปิดพื้นที่การศึกษาท้องถิ่นให้กว้างขวางและครอบคลุมในมิติต่างๆ เช่น การเมืองในท้องถิ่น (Local Politics) วัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่น (Local Politicals Culture) สอง การศึกษาเปรียบเทียบการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความแตกต่างในบริบทต่างๆ เพื่อการศึกษาเปรียบเทียบความเป็นอิสระในการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ สาม การศึกษาและพัฒนารูปแบบ (Model) การบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่นของแต่ละจังหวัด