Abstract:
การวิจัยเรื่องนี้เป็นการวิจัยสถาบันของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา มีจุดมุ่งหมายเพื่อการติดตามสถานภาพการทำงานของมหาบัณฑิตรุ่นปีการศึกษา 2544 เพื่อการสำรวจความคิดเห็นของมหาบัณฑิตต่อหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนและการอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน และเพื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณภาพในการทำงานในทรรศนะของหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานของมหาบัณฑิตเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย แบ่งออกเป็น 3 ชุด ชุดที่ 1 แบบสำรวจสถานภาพการทำงานของมหาบัณฑิต ชุดที่ 2 แบบสำรวจความคิดเห็นต่อหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน ชุดที่ 3 แบบสอบถามความสามารถและคุณลักษณะของมหาบัณฑิตในการปฏิบัติงาน การเก็บรวบรวมข้อมูลจากมหาบัณฑิตใช้การเก็บข้อมูลโดยตรงในช่วงที่มีการซ้อมรับปริญญาบัตร โดยแจกแบบสอบถามให้แล้วรอรับกลับคืน การเก็บรวบรวมข้อมูลจากหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน โดยการส่งทางไปรษณีย์และสอดซองติดแสตมป์ให้ส่งกลับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติพรรณา คือการแจกแจงความถี่ และร้อยละผลการวิจัยพบว่าบัณฑิตรุ่นปีการศึกษา 2544 ตอบแบบสอบถามร้อยละ 72.9 เป็นแบบสอบถามที่สมบูรณ์ ถูกต้องร้อยละ 67.5 สถานภาพการทำงานภายหลังสำเร็จการศึกษา มีงานทำแล้วก่อนสำเร็จการศึกษา ร้อยละ 96.8 มีผู้ที่ยังไม่ได้ทำงานเพียง 27 คน ภายหลังสำเร็จการศึกษามีงานทำ 19 คน และยังเหลือผู้ที่ไม่ได้ทำงาน 6 คน เนื่องจาก 1 คนลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอก มหาบัณฑิตที่ทำงานแล้วส่วนใหญ่มีรายได้ระหว่าง 15,000-20,000 บาท ส่วนใหญ่อาชีพรับราชการ ร้อยละ 59.1 รองลงมาเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 17.6 มหาบัณฑิตได้ทำงานที่ตรงกับสาขาที่จบมาร้อยละ 76.2 สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับงานที่ทำอยู่ในระดับมาก ร้อยละ 62.7 ระดับปานกลาง ร้อยละ 32.7 ลักษณะงานที่ทำภายหลังสำเร็จการศึกษาได้ทำงานเดิมในตำแหน่งใหม่ที่สูงขึ้นพบร้อยละ 12.6 และได้ทำงานใหม่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น พบร้อยละ 8.7 จะเห็นได้ว่ามหาบัณฑิตได้ทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น รวมทั้งงานเดิมและงานใหม่ พบร้อยละ 21.3 ความพึงพอใจต่องานที่ทำพบว่า พึงพอใจร้อยละ 91.0 ในการสำรวจความคิดเห็นของมหาบัณฑิตทุกสาขาต่อหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนและการอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน ผลการศึกษาพบว่า ด้านหลักสูตรมีความเหมาะสมมากในระดับมาก 2 อันดับแรก คือ เนื้อหาสาระที่เรียกตรงกับความต้องการของงาน เนื้อหาสารที่เรียนทันสมัย มหาบัณฑิตส่วนใหญ่เห็นว่ามีความเหมาะในระดับมาก 2 อันดับสุดท้าย คือการฝึกในห้องปฏิบัติการ/ ฝึกภาคสนาม การศึกษาดูงาน/ การสร้างเสริมประสบการณ์วิชาชีพที่นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน
ด้านการจัดการเรียนการสอนมหาบัณฑิตส่วนใหญ่เห็นว่าการจัดการเรียนการสอนมีความเหมาะสมในระดับมาก 2 อันดับแรกคือ การประสานงานระหว่างอาจารย์ ปริมาณอาจารย์ผู้สอน มีความเหมาะสมมาก 2 อันดับสุดท้ายคือ ลำดับวิชาที่เรียน การประเมินผลรายวิชา ด้านการควบคุมวิทยานิพนธ์ มหาบัณฑิตส่วนใหญ่เห็นว่า มีความเหมาะสมในระดับมาก 2 อันดับแรกคือ คุณภาพเนื้อหาวิทยานิพนธ์ ความเหมาะสมของการประสานงานระหว่างอาจารย์มีความเหมาะสมในระดับมาก 2อันดับสุดท้ายคือ ปริมาณอาจารย์ผู้คุมวิทยานิพนธ์/ งานนิพนธ์ การจัดอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์/ งานนิพนธ์ ในประเด็นด้านการอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน มหาบัณฑิตส่วนใหญ่เห็นว่ามีความเหมาะสมในระดับมาก 3 อันดับสุดท้าย ได้แก่ บริเวณที่จอดรถ บริการอาหาร บริการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งมหาบัณฑิตได้ให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขด้วยในการศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณภาพของมหาบัณฑิตในการทำงานในทรรศนะของหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานของมหาบัณฑิต ผลการศึกษาพบว่า มหาบัณฑิตมีความสามารถในการปฏิบัติงานโดยภาพรวมภายหลังสำเร็จการศึกษา ส่วนใหญ่มีความสามารถในการปฏิบัติงานในระดับมาก พบร้อยละ 80.6 โดยความสามารถในการปฏิบัติงานเปลี่ยนแปลงไปทิศทางที่ดีขึ้นร้อยละ 89.6 เท่าเดิมร้อยละ 8.3 และแย่ลงร้อยละ 0.4 ความคิดเห็นต่อความสามารถและคุณลักษณะในการปฏิบัติงานรายด้าน หัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานของมหาบัณฑิตมีความเห็นว่า มหาบัณฑิตมีความสามารถและคุณลักษณะในระดับมาก 3 อันดับแรก ได้แก่
ความซื่อตรงต่อหน้าที่ ความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน ความสามารถและคุณลักษณะที่จัดอยู่ในกลุ่ม 3 อันดับ สุดท้าย ได้แก่ ความสามารถในการบังคับบัญชา ความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษคณะผู้วิจัย
มีข้อเสนอแนะว่า ควรทำการศึกษาความสามารถในการปฏิบัติงานของมหาบัณฑิตก่อนเรียนและภายหลังสำเร็จการศึกษาเปรียบเทียบเหมือนกัน เพื่อจะได้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงในความสามารถ นอกจากนี้ยังได้เสนอแนะให้สาขาวิชา คณะ วิทยาลัย หน่วยงานบริการของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับงานซึ่งได้รับความคิดเห็นของมหาบัณฑิตซึ่งอยู่ในระดับปานกลางระดับน้อย และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้ปรับปรุงแก้ไขได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขต่อไป