Abstract:
วิจัยเรื่อง การศึกษาแนวโน้มความต้องการบัณฑิตทางบริหารธุรกิจ ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการบัณฑิตทางบริหารธุรกิจในช่วงปี 2543-2545 คุณสมบัติของบัณฑิตที่ต้องการ และปัจจัยที่ใช้ในการเลือกบัณฑิตเข้าทำงาน เพื่อนำผลที่ได้มาใช้ในการปรับกระบวนการการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจและยุคโลกาภิวัตน์ วิธีการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Research) โดยมีประชากรกลุ่มเป้าหมายในการสำรวจอยู่ในธุรกิจ/หน่วยงาน 4 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มบริการ (โรงแรมและท่องเที่ยว) กลุ่มการค้า และหน่วยงานภาครัฐ/วิสาหกิจ ในภาคตะวันออก การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบสอบถามส่งไปยังผู้จัดการฝ่ายบุคคลของหน่วยงานที่เป้นกลุ่มตัวอย่างทางไปรษณีย์ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2543 จำนวน 800 ชุด ได้รับตอบกลับคืนมาทั้งสิ้น 230 ชุด จากข้อมูลที่ได้รับกลับมากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกิจการขนาดเล็ก มีขนาดของสินทรัพย์ ยอดขาย และทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 50 ล้านบาท มีพนักงานระหว่าง 51-500 คน โดยวุฒิในระดับปริญญาตรีมากที่สุด และส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานที่คนไทยลงทุน 100% ซึ่งผลิตและขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ผลการศึกษาความต้องการของบัณฑิตทางบริหาธุรกิจในระหว่างปี พ.ศ.2543 – พ.ศ.2545 นั้นพบว่า มีความต้องการโดยรวมค่อนข้างน้อย โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่างสาขาละ 2-3 คนต่อปี แต่อย่างไรก็ตาม ความต้องการบัณฑิตในระดับปริญญาตรีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีหลัง ๆ ส่วนระดับปริญญาโทแนวโน้มความต้องการบัณฑิตค่อนข้างคงที่ใน 3 ปีที่ศึกษานี้ สำหรับสาขาที่มีความต้องการมากในระดับปริญญาตรี ได้แก่ สาขาการตลาด บัญชี การเงิน และธุรกิจระหว่างประเทศ และในทำนองเดียวกันในระดับปริญญาโทได้แก่สาขาทางด้านการตลาด และบัญชี
ผลการศึกษาคุณสมบัติของบัณฑิตฯ พบว่า ความพึงพอใจในคุณสมบัติต่าง ๆ โดยรวมอยู่ในระดับเห็นด้วยมาก(พึงพอใจมาก)ทั้งระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโทที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยงานในปัจจุบัน ในส่วนของคุณสมบัติของบัณฑิตที่สำคัญที่สุดที่หน่วยงานต้องการทั้งระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโท ได้แก่ มีความรับผิดชอบ นอกจากนี้ ในระดับปริญญาตรีต้องการรับบัณฑิตที่มีจริยธรรมและความอดทน ส่วนบัณฑิตในระดับปริญญาโทเน้นคุณสมบัติทางด้านมีการไตร่ตรองอย่างมีเหตุผล และมีความสามารถในการวิเคราะห์
สำหรับปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดที่มีอิทธิพลในการเลือกบัณฑิตทั้งระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโทเข้าทำงาน พบว่าได้แก่ ความมีไหวพริบปฏิภาณ บุคลิกภาพ และความสามารถทางด้านภาษา ส่วนปัจจัยที่มีอิทธิพลน้อยในการพิจารณาการคัดเลือกคือ เพศ และสถาบันการศึกษา
ในด้านภาษาที่หน่วยงานอุตสาหกรรมเห็นว่ามีความสำคัญที่สุดคือ ภาษาญี่ปุ่น และ ภาษาจีน ส่วนกิจการบริการ ให้ความสำคัญกับ ภาษาเยอรมัน และ ภาษาจีน นอกจากนี้ หน่วยงานยังต้องการให้ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีความสามารถในการทำงานเป็นทีมรวมถึงภาวะผู้นำและความเป็นผู้ตาม มีความอดทนและความหนักแน่นในการเผชิญปัญหา
สำหรับข้อเสนอแนะต่าง ๆ สำหรับการจัดการเรียนการสอนทางบริหารธุรกิจ ได้แก่การเน้นให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะตามที่สังคมต้องการ เช่น ความรับผิดชอบ ความอดทน และควรจัดให้มีการฝึกอบรมพัฒนาบุคลิกภาพ และสนับสนุนการทำงานเป็นทีม การทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างเรียน รวมทั้งควรจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การทำงานในสภาพจริงของธุรกิจมากขึ้นเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในการทำงาน สามารถวิเคราะห์และเรียนรู้การแก้ไขปัญหาได้ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ในการทำงานได้ นอกจากนี้ควรมีการพัฒนาหลักสูตรให้มีความเป็นสากล ให้มีการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งวิทยาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ ด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงานในยุคโลกาภิวัตน์