Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบตัดขวาง เพื่อหาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวในครัวเรือน ในเขตเทศบาลตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โดยทำการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวในครัวเรือนจาก 1) สภาพอุปกรณ์ควบที่ใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลวในครัวเรือนและ ลักษณะของการติดตั้ง และ 2) การปฏิบัติในการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวในครัวเรือน ตัวอย่างเป็นแม่บ้านของครัวเรือนที่ได้รับการคัดเลือกโดยวิธีการสุ่มแบบสองขั้นตอน โดยแบ่งประชากรศึกษาออกเป็น 15 หมู่บ้าน เลือกตัวอย่างจากแต่ละหมู่บ้านแบบเจาะจงเฉพาะครัวเรือนที่มีการใช้ปิโตรเลียมเหลวในครัวเรือน และสามารถเข้าเก็บรวบรวมข้อมูลได้ ให้ได้จำนวนตามสัดส่วนของตัวอย่างทั้งหมด มีตัวอย่างในการศึกษาทั้งหมด 372 ครัวเรือน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์และสำรวจสภาพอุปกรณ์ควบและลักษณะของการติดตั้ง ในช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2540 โดยอาศัยเครื่องมือที่ปรับปรุงจากเครื่องมือของบุษบา จันทร์ผ่องและคณะ
การวิจัยนี้พบว่า ครัวเรือนมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวในครัวเรือนในระดับต่ำ ทั้งความเสี่ยงจากสภาพอุปกรณ์และลักษณะของการติดตั้ง และความเสี่ยงจากการปฏิบัติในการใช้ก๊าซ โดยมีค่าเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 39 ของคะแนนเต็ม อย่างไรก็ตาม พบว่า ครัวเรือนที่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้ก๊าซด้านสภาพอุปกรณ์ควบและลักษณะของการติดตั้งน้อยกว่า และครัวเรือนที่มีการใช้ก๊าซเพื่อการหุงต้มในแต่ละครั้งน้อยกว่า 15 นาที จะเป็นครัวเรือนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากการใช้ก๊่าซมากกว่า การปฏิบัติในการใช้ก๊าซที่ครัวเรือนส่วนมากยังปฏิบัติไม่ถูกต้องเหมาะสม ได้แก่ วิธีการจุดเตาก๊าซทั้งเตาก๊าซที่ต้องจุดไฟด้วยตนเองและเตาก๊าซแบบจุดติดอัตดนมัติ และการตรวจสอบรอยรั่วของก๊าซ สำหรับสภาพอุปกรณ์ควบและลักษณะของการติดตั้งที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ ระยะห่่างระหว่างถังก๊าซกับเตาก๊าซน้อยกว่า 1 เมตร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวางถังก๊าซไว้ใต้เตาหรือเก็บไว้ในตู้มิดชิด และการไม่ยึดสายท่อก๊าซด้วยเหล็กรัดข้อต่อ สำหรับอันตรายที่เกิดขึ้นจริง พบว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีการประสบอันตรายเพียงครัวเรือนเดียวและครั้งเดียวจากเปลวไฟลุกลวกมือแม่บ้าน โดยมีสาเหตุจากการบิดจุดเตาก๊าซหลายครั้งต่อเนื่องกันโดยไม่หยุดทิ้งไว้สักระยะหนึ่งเพื่อให้ก๊าซกระจายตัวออกไปเสียก่อน
จากการวิจัยนี้ แม้จะพบว่าครัวเรือนมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายในระดับต่ำ มีโอกาสเกิดอันตรายได้น้อย ครัวเรือนก็ยังต้องระมัดระวังการเกิดอันตราย เพราะถ้าหากเกิดอันตรายขึ้นมาก็อาจจะมีความรุนแรงได้ โดยการปฏิบัติในการใช้ก๊าซให้ถูกต้อง โดยเฉพาะการจุดเตาก๊าซ การตรวจสอบรอยรั่ว การตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ควบเมื่อเปลี่ยนถังก๊าซใหม่หรือการสังเกตก่อนการใช้งานแต่ละครั้ง ทั้งนี้ครัวเรือนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่จากร้านจำหน่ายก๊าซก็นับว่ามีความสำคัญต่อความปลอดภัยของครัวเรือน ในการตรวจสอบอุปกรณ์ควบตลอดจนการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจให้กับครัวเรือน ควรมีการศึกษาถึงความรู้ความเข้าใจ การมีส่วนร่วมในการส่งเสริมความปลอดภัยแก่ครัวแรือนของเจ้าหน้าที่จากร้านจำหน่ายก๊าซ