Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาการให้ความหมายของความรัก ความต้องการในด้านความรัก และวิธีการเสริมสร้างความรักทางทัศนะของครู ผู้ปกครอง วัยรุ่นที่ติดสารเสพติด และวัยรุ่นที่ไม่ติดสารเสพติด ด้านการใช้วิธีการเชิงอุปมานในการดำเนินการวิจัย และใช้วิธีการสัมภาษณ์ แบบเจาะลึกเป็นวิธีหลักในการรวบรวมข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลคือ วัยรุ่นที่ติดสารเสพติดที่เข้ารับการรักษาที่สถานบำบัด จำนวน 14 คน และวัยรุ่นที่ไม่ติดสารเสพติดที่กำลังเรียนในสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาจำนวน 10 คน ครูในโรงเรียนมัธยมศึกษาของภาคตะวันออกจำนวน 6 คน ผู้ปกครองของเด็กวัยรุ่นที่กำลังเรียนในสถานศึกษาระดับมัธยม จำนวน 9 คน และผู้ปกครองของเด็กวัยรุ่นที่ติดสารเสพติดที่เข้ารับการรักษาที่สถานบำบัดรักษาจำนวน 9 คน ผลการศึกษาพบว่า
1. การให้ความหมายของความรักมี 7 ความหมายคือ 1) ความรักคือการให้ที่เป็นแบบมีขอบเขตและไม่มีขอบเขตซึ่งมีทั้งมิติของผู้ให้ และผู้รับ 2)ความรักคือการดูแลเอาใจใส่กันซึ่งประกอบด้วยด้านการเรียน/การศึกษา ด้านชีวิตความเป็นอยู่ ด้านสุขภาพ/ความเจ็บป่วย 3)ความรักคือการเข้าใจ มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ 4)ความรักคือความห่วงใย มีทั้งความห่วงใยของพ่อ แม่ พี่สาว ผู้ปกครอง (ญาติ) เพื่อน และคนรัก 5)ความรักคือความอบอุ่น ในแบบของการสัมผัสโดยตรงและทางอ้อม 6)ความรักคือความสามัคคี ปรองดองกัน ในบรรยากาศเชิงบวก และเชิงลบ และ 7)ความรักคือการเสียสละ ที่มีความเห็นทั้งแบบมีขอบเขตและไม่มีขอบเขต
2. ความต้องการด้านความรักของวัยรุ่น พบว่า มีด้วยกัน9ด้านคือ 1)ต้องการได้รับความเข้าใจและการให้อภัย 2)ต้องการการสื่อสารที่ดี พูดจาและรับฟังกัน 3)ต้องการได้รับการแสดงออกถึงความรักจากพ่อแม่ ด้วยคำพูด ด้วยการกระทำ 4)ต้องการให้คนในครอบครัวเป็นตัวอย่างที่ดี ได้แก่ ไม่ทะเลาะกัน ไม่เล่นการพนัน ไม่ดื่มเหล้าเมาสุรา และไม่ใช้เผด็จการอำนาจ 5)ต้องการมีเวลาอยู่ด้วยกันและทำกิจกรรมร่วมกันกับครอบครัว/ทั้งพ่อและแม่ กับเฉพาะพ่อ หรือ แม่ 6)ต้องการได้รับการดูแลเอาใจใส่ จากครอบครัว/พ่อแม่ จากแม่ คนรัก หรือใครสักคน 7)ต้องการได้รับการปฏิบัติจากพ่อแม่เท่าเทียมกัน 8)ต้องการมีครอบครัวที่สมบูรณ์ มีพร้อมทั้งแม่และพ่อ 9)ต้องการได้รับคำปรึกษาแนะนำ
3. วิธีการเสริมสร้างความรักมี 8 วิธีคือ 1)มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เอาใจใส่ ห่วงใย เอื้ออาทรกัน ตามความคิดเห็นของวัยรุ่นที่ใช้และวัยรุ่นที่ไม่ใช้สารเสพติด และครู 2)มีการพูดจาให้เกิดความเข้าใจในกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้และวัยรุ่นที่ไม่ใช้สารเสพติดและครู 3)การมีเวลาให้แก่กันและกัน มีโอกาสอยู่ใกล้ชิด และทำกิจกรรมร่วมกันในวัยรุ่นที่ใช้และวัยรุ่นที่ไม่ใช้สารเสพติด 4)การมีความเข้าใจและให้อภัยแก่กัน ในทัศนะของวัยรุ่นที่ใช้และวัยรุ่นที่ไม่ใช้สารเสพติด และปัญหาของการขาดทักษะของผู้ปกครองในการเลี้ยงดูวัยรุ่น 5)มีการแสดงออกของความรักด้วยคำพูด การสัมผัส การโอบกอด เป็น4แบบคือ แบบลูก/วัยรุ่นที่มีต่อพ่อแม่/ผู้ปกครอง แบบผู้ใหญ่ที่มีต่อลูก/วัยรุ่น แบบปฏิกิริยาต่างกันและกันทั้ง2ฝ่าย และ แบบเพียงความคิดความต้องการที่ไม่เคยได้ทำ 6)มีการให้รางวัล จากครูซึ่งเป็นการสัมผัสและการชมเชย จากผู้ปกครองเป็นแบบให้คำชมเชยและ/หรือให้ของขวัญ/สิ่งของมีค่า 7)การมีความสามัคคี ปรองดองกัน และ8)การมีความรับผิดชอบตามบทบาทและหน้าที่ของตน
ผลการวิจัยทำให้ได้แนวทางในการสร้างเป็นรูปแบบหรือโครงการต่างๆหรือโปรแกรมเพื่อเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการแสดงความรักต่อกันและกันได้ตรงกับสิ่งที่วัยรุ่นต้องการ เพื่อเสริมสร้างให้ครอบครัวมีแต่ความรักความอบอุ่น ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันการศึกษาพยาบาล สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่มีครอบครัว โดยการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง วัยรุ่น เพื่อการเสริมสร้างให้เกิดความรัก ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน