Abstract:
การวิจัยเชิงพรรณาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความเครียดและวิธีการเผชิญความเครียดของผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่พาผู้ป่วยมรรับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จ.ชลบุรี ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกันยายน 2544 จำนวน 100 ราย โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แบบสอบถามการรับรู้ความเครียดของเลเวนสทีนและคณะ (1993) ซึ่งแปลและดัดแปลงเป็นภาษาไทยโดยวริยา วชิราวัฒน์ (2543) และแบบสอบถามการเผชิญความเครียด ซึ่งแปลและดัดแปลงเป็นภาษาไทย จากแบบวัดการเผชิญความเครียดของจาโลวิค (1988) โดย หทัยรัตน์ แสงจันทร์ (2541) ผู้วิจัยนำแบบสอบถามทั้งสองไปหาความเชื่อมั่นด้วยวิธีของครอนบาค ได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามการรับรู้ความเครียดเท่ากับ .83 แบบสอบถามการเผชิญความเครียดโดยรวมเท่ากับ .81 โดยที่ด้านการจัดการกับปัญหา ด้านการจัดการกับอารมณ์และด้านการแก้ปัญหาทางอ้อมเท่ากับ .75, .71 และ .83 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณา
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีความเครียดอยู่ในระดับปานกลาง และมีการใช้วิธีการเผชิญความเครียดทั้งสามด้านผสมผสานกัน โดยมีสัดส่วนวิธีการเผชิญความเครียดด้านการจัดการกับปัญหามากที่สุด รองลงมาคือ ด้านการแก้ปัญหาทางอ้อมและด้านการจัดการกับอารมณ์น้อยที่สุด
ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปเป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติการพยาบาล เพื่อช่วยเหลือผู้ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ให้สามารถเผชิญความเครียดได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนเป็นแนวทางสำหรับการบริหาร การวิจัยและการจัดการศึกษาพยาบาลต่อไป