Abstract:
ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลของตัวติดตามแบบพาสซีฟที่เคลื่อนตัวตามมวลน้ำทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนในโดยใช้แบบจำลองอุทกพลศาสตร์ ชื่อ Princeton Ocean Model (POM) ร่วมกับแบบจำลองการแพร่กระจายของตัวติดตามแบบพาสซีฟ ผลการศึกษา พบว่า ลักษณะการไหลเวียนของกระแสน้ำในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีรูปแบบตามเข็มนาฬิกาและในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีรูปแบบทวนเข็มนาฬิกา การไหลเวียนที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการแพร่กระจายของตัวติดตามแบบพาสซีฟที่มีแหล่งกำเนิดมาจากแม่น้ำสายหลักในอ่าวไทยตอนใน โดยพบว่าการไหลเวียนในช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดพาตัวติดตามแบบพาสซีฟจากปากแม่น้ำต่าง ๆ เลียบชายฝั่งด้านเหนือไปสู่ชายฝั่งด้านตะวันออกของอ่าวไทยตอนใน ตัวติดตามแบบพาสซีฟที่เป็นสารอนุรักษ์ซึ่งเป็นตัวแทนของน้ำท่าจากแม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำเจ้าพระยามีอิทธิพลต่อพื้นที่บริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของอ่าวไทยตอนในตลอดทั้งปี สัดส่วนร้อยละของตัวติดตามแบบพาสซีฟที่แพร่กระจายมาจากแม่น้ำบางปะกง เจ้าพระยา แม่กลอง และท่าจีน ที่ส่งผลต่อพื้นที่ด้านตะวันออกอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 12.1-81.7, 18.3-47.9,0.0-46.1 และ 0.0-10.8 ตามลำดับ ส่วนกระแสน้ำในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะพัดพาตัวติดตามแบบพาสซีฟจากปากแม่น้ำต่าง ๆ เลียบชายฝั่งด้านเหนือไปสู่ชายฝั่งด้านตะวันตกของอ่าวไทยตอนในตัวติดตามแบบพาสซีฟจากปากแม่น้ำแม่กลองและปากแม่น้ำเจ้าพระยามีอิทธิพลต่อพื้นที่บริเวณชายฝั่ งด้านตะวันตกของอ่าวไทยตอนในเป็นส่วนใหญ่เช่นกัน โดยมีสัดส่วนร้อยละของตัวติดตามแบบพาสซีฟแพร่กระจายจากแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 18.5-98.2, 0.0-68.2, 1.7-21.9 และ 0.0-6.1 ตามลำดับ ผลการจำลองการเคลื่อนที่ของตัวติดตามแบบพาสซีฟในแต่ละฤดูกาลสอดคล้องกับรายงานการเกิดปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีตามพื้นที่ในอดีตที่ผ่านมา