Abstract:
งานวิจัยนี่้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินพื้นที่อ่อนไหวต่อการขาดแคลนน้ำและบ่งชี้สาเหตุของปัญหาเพื่อใช้ในการวางแผนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในจังหวัดสระแก้ว พื้นที่อ่อนไหวต่อการขาดแคลนน้ำประเมินได้จากค่าดัชนีพืชพรรณ และค่าดัชนีความแตกต่างของความชื้น โดยใช้ข้อมูลโทรสัมผัสระยะไกลจากดาวเทียม Landsat 4-5TM 7ETM และ 8OLI ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2561 โดยการทำศึกษาแยกเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูหนาว และฤดูฝน การบ่งชี้สาเหตุของปัญหาการขาดแคลนน้ำได้จากการระบุประเด็นในการสนทนากลุ่มซึ่งมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ผู้เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ และตัวแทนประชาชนหรือเกษตรกรผู้ใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าในฤดูร้อนพื้นที่ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 60 ถึง 80 ของพื้นที่) มีสภาวะแล้งน้อย ยกเว้นปี พ.ศ.25452552 2560 และ 2561 มีสภาวะแล้งมากครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 30 ของจังหวัด ในฤดูฝนโดยเฉลี่ยจังหวัดสระแก้วมีสภาพแล้งน้อยถึงปานกลาง (มากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่) ส่วนในฤดูหนาวโดยเฉลี่ยมีสภาวะแล้งน้อยเป็นส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 48 ถึง 70 ของ พื้นที่) การระบุประเด็นปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรโดยการสนทนากลุ่มชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ที่ประสบปัญหามากที่สุด คือ อำเภอตาพระยา อำเภอโคกสูง และอำเภอวัฒนานคร ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดสระแก้ว สอดคล้องกับผลการประเมินพื้นที่อ่อนไหวต่อการเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรโดยใช้ข้อมูลโทรสัมผัสระยะไกลจากดาวเทียม จากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาทั้งสองวิธีนี้สามารถนำมาใช้ในการระบุพื้นที่และวางแผนจัดการปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในจังหวัดสระแก้วได้