Abstract:
บทความนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาทบทวนสภาพปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการถือครองที่ดินในพื้นที่อ่าวตราด จังหวัดตราด 2) เพื่อนำเสนอทางเลือกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการในการจัดการปัญหาความขัดแย้งประเด็นปัญหาที่ดิน พื้นที่อ่าวตราด จังหวัดตราดการศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลอยู่ 3 วิธีการ คือ 1) การศึกษาจากเอกสาร 2) การสัมภาษณ์ และ 3) การสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม โดยผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 1 พบว่า สภาพปัญหาที่ดินของพื้นที่อ่าวตราด จังหวัดตราด ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมา เนื่องมาจากปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการถือครองที่ดินของระบบและการจัดการเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดินนับตั้งแต่ในอดีต รวมถึงนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐ โดยมีปัญหาที่สำคัญใหญ่ 2 ประการ ได้แก่ 1) สภาพปัญหาและความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับการทับซ้อนของสิทธิในการถือครองที่ดิน คือ ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของประชาชนและการบุกรุกกับที่ดินของรัฐ ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของประชาชนกับที่ดินของนายทุน ปัญหาการครอบครองที่ดินโดยไม่ถูกต้อง ปัญหาไม่มีที่ดินทำกินของประชาชน ปัญหาที่ดินหลุดมือ และปัญหาพื้นที่แนวเขตการปกครองทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน 2) สภาพปัญหาและความขัดแย้งที่เชื่อมโยงเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ ปัญหาเรื่องการใช้ที่ดินทับซ้อนระหว่างประชาชนกับรัฐ ประชาชนกับนายทุน ปัญหาการจัดการทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน และผลการศึกษาจากวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 พบว่า ทางเลือกในการขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาโดยการจัดการทรัพยากรร่วมกันภายใต้การขับเคลื่อนในลักษณะภาคีเครือข่ายสาธารณะ รวมไปถึงรัฐควรนำแนวคิดยุติธรรมชุมชนซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกเข้ามาใช้ในการจัดการทรัพยากรบนพื้นฐานของความร่วมมือของชุมชน เป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่ดินร่วมกับประชาชนในพื้นที่เพื่อลดความรุนแรงลง