Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2561) คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ 2) เพื่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPPIEST ของแดเนียล แอล สตัฟเฟิลบีม ผู้วิจัยใช้วิธีการวิจัยแบบผสานวิธี ได้แก่ การวิจัยเชิงปริมาณโดยเก็บแบบสอบถามจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร อาจารย์ประจำหลักสูตร อาจารย์ผู้สอน นิสิตปัจจุบัน ศิษย์เก่า และผู้ใช้นายจ้างหรือหัวหน้างานของบัณฑิต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิจัยเชิงคุณภาพใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ทรงคุณวุฒิ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลการศึกษา พบว่า 1) การประเมินหลักสูตร โดยใช้ CIPPIEST Model พบว่า ด้านการประเมินบริบท การประเมินปัจจัยนำเข้า การประเมินกระบวนการ การประเมินผลผลิต การประเมินผลกระทบ การประเมินประสิทธิผล การประเมินความยั่งยืน การประเมินการถ่ายโยงความรู้ ผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน 2) แนวทางการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร พบว่า หลักสูตรควรเน้นให้ผู้เรียนเป็นนักปฏิบัติ (Practitioner) โดยอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีที่เป็นหลักพื้นฐาน ให้มีความเข้าใจ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เน้นการพัฒนาทุนมนุษย์โดยให้ความรู้ศาสตร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในหลากหลายมิติ รวมถึงทำให้ผู้เรียนเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD Influencer) และเป็นนวัตกร (Innovator) และข้อเสนอแนะในการปรับปรุงหลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรควรพิจารณาความสอดคล้องระหว่างปรัชญา ความสำคัญ วัตถุประสงค์ของหลักสูตร และรายวิชากับความต้องการของผู้เรียนและบริบทของสังคมในปัจจุบัน ความน่าสนใจและทันสมัยของเนื้อหาวิชา กระบวนการเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตก่อนเข้าศึกษา ทรัพยากรที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และงบประมาณสนับสนุน