Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและข้อจำกัดในการเข้าถึงนโยบายและมาตรการในการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมของภาครัฐ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์กลยุทธ์ที่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยใช้ในการจัดการเพื่อสร้างความมั่นคงในการดำเนินกิจการ และเพื่อนำเสนอแนวทางในการปรับปรุงนโยบายและมาตรการภาครัฐในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยมีความมั่นคงในการดำเนินกิจการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในจังหวัดชลบุรี จำนวน 398 ตัวอย่าง และสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้บริหารของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี และหอการค้าจังหวัดชลบุรี จำนวน 8 ท่าน ทำการศึกษาโดยใช้แบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ผลมีสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์การถดถอยพหุ โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการศึกษาสรุปได้ว่า 1. ปัญหาและข้อจำกัดของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม จังหวัดชลบุรีในการเข้าถึงนโยบายและมาตรการของภาครัฐ โดยรวมและรายด้านทุกด้านนั้นมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลางทุก ประเด็น โดยสามารถเรียงลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้ ด้านแรงงาน ปัญหาที่พบมากคือ ต้นทุนด้านค่าจ้างและสวัสดิการแรงงานสูงมาก รองลงมาคือด้านข้อระเบียบและกฎหมาย ปัญหาที่พบมากคือ กฎระเบียบเอื้อแต่ทุนรายใหญ่ ทุนรายเล็กเสียเปรียบ เช่น กฎหมายส่งเสริมการลงทุน ด้านการตลาด ปัญหาที่พบมากคือ บริษัทขนาดใหญ่เข้ามาเปิดสาขาในพื้นที่และแย่งชิงตลาด ด้านการเข้าถึงการบริการภาครัฐ ปัญหาที่พบมากคือขั้นตอนการขอรับบริการจากหน่วยงานรัฐยุ่งยาก ล่าช้า เช่น การขอจดทรัพย์สินทางปัญญา การขอใช้สิทธิเงินกู้ หรือการขอข้อมูลต่างๆ ด้านเงินลงทุน ปัญหาที่พบมากคือ แหล่งเงินทุนที่มีอยู่มีต้นทุนดอกเบี้ยค่อนข้างสูง ด้านเทคโนโลยีทางการผลิต ปัญหาที่พบมากคือ ช่างเทคนิคที่มีความรู้ความสามารถ ที่จะคอยควบคุมดูแลเทคโนโลยี/ เครื่องจักร หายาก และค่าจ้างสูง และ ด้านความสามารถในการจัดการ ปัญหาที่พบมากคือ ขาดความรู้และความเข้าใจในการวางแผนธุรกิจ ตามลำดับ 2. อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ส่วนใหญ่มีกลยุทธ์ที่ใช้ในการจัดการเพื่อสร้างความมั่นคงในการดำเนินกิจการ โดยรวมนั้นมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง โดยรวมนั้นมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า อยู่ในระดับมาก 2 ปัจจัย ได้แก่ ด้านการเข้าถึงการบริการภาครัฐ กลยุทธ์ที่ใช้ส่วนใหญ่คือ การจ่ายภาษีต่างๆ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และด้านการตลาด กลยุทธ์ที่ใช้ส่วนใหญ่คือ การเก็บข้อมูลสถิติการซื้อสินค้าของลูกค้าไว้ และมีประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลางอีก 5 ปัจจัย โดยสามารถเรียงลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้ด้านเงินลงทุน กลยุทธ์ที่ใช้ส่วนใหญ่คือ การวางแผนจัดการระบบการจัดการการเงินที่มีประสิทธิภาพ รองลงมาคือด้านแรงงาน กลยุทธ์ที่ใช้ส่วนใหญ่คือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาพนักงานโดยเน้นการสร้างทักษะและความจงรักภักดี ด้านความสามารถในการจัดการ กลยุทธ์ที่ใช้ส่วนใหญ่คือ การปรับโครงสร้างและ กลยุทธ์บ่อยครั้งเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ ด้านข้อระเบียบและกฎหมาย กลยุทธ์ที่ใช้ส่วนใหญ่คือ ผู้บริหารระดับสูง ไม่สนใจในการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับกฎหมาย และด้านเทคโนโลยีทางการผลิต ตามลำดับ กลยุทธ์ที่ใช้ส่วนใหญ่คือ การซ่อมบำรุงและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้อยู่เพื่อชะลอการลงทุนและรักษาผลิตภาพของการผลิต และ 3. แนวทางในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยมีความมั่นคงในการดำเนินกิจการ ในด้านเงินลงทุน ควรมีการขยายโอกาสของ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และส่งเสริมให้ความรู้ในการใช้เงินลงทุนให้ถูกประเภท ด้านการตลาดนั้นควรส่งเสริมความสามารถในการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการวิเคราะห์ปัจจัยสภาพแวดล้อมทางการตลาด ด้านแรงงาน ควรพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการจัดการนั้นควรส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และให้ความรู้ในการจัดการต้นทุนและซัพพลายเออร์ ด้านเทคโนโลยีการผลิต ควรมุ่งเน้นการสร้างความสามารถทางการแข่งขันด้วยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และควรปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ ควรลดกฎเกณฑ์และขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อนในการให้บริการ และด้านข้อระเบียบและกฎหมาย ควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความรู้เกี่ยวกับด้านข้อระเบียบและกฎหมายในการประกอบธุรกิจ