Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาแนวคิดการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 2) ศึกษากระบวนการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัย 3) วิเคราะห์ปัญหาความขัดแย้งและประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกระบวนการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ และ 4) เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยใช้หลักธรรมาภิบาล และพัฒนากระบวนการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ การวิจัยนี้เป็นวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (semi-structure interview) ผู้ให้ข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มผู้บริหารและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยของรัฐ 3 แห่งๆ ละ 2 ราย และกลุ่มที่ 2 ได้แก่ กลุ่มนักวิชาการในสถาบันคลังสมองของชาติ ภายใต้มูลนิธิส่งเสริมทบวงมหาวิทยาลัย จำนวน 5 ราย ผลการศึกษาในครั้งนี้ค้นพบว่า การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ รัฐบาลจึงมอบอำนาจในการกำกับดูแลไว้ที่สภามหาวิทยาลัยเป็นสำคัญรวมทั้งการสรรหาอธิการบดี ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกระบวนการสรรหามาจากสาเหตุหลายประการทั้งที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสภามหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถแยกแยะประเด็นความขัดแย้งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ประเด็นความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ ด้านผลประโยชน์ ด้านข้อมูล ด้านค่านิยม และด้านโครงสร้าง จากผลการศึกษาพบว่า ประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับด้านผลประโยชน์ ด้านโครงสร้าง ด้านค่านิยม ส่วนประเด็นความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับด้านความสัมพันธ์เกิดขึ้นค่อนข้างชัดเจนในบางกรณี สำหรับประเด็นความขัดแย้งด้านข้อมูลไม่ปรากฎอย่างชัดเจน สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งซึ่งมี 5 รูปแบบ ได้แก่ การเอาชนะ การยอมตาม การหลีกเลี่ยง การร่วมมือ และการประนีประนอม ผลการวิจัยพบว่า วิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในการสรรหาอธิการบดีที่เหมาะสม ได้แก่ การร่วมมือ และการประนีประนอม อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยการร่วมมือ และการประนีประนอมดังกล่าวจะต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล โดยฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรยึดมั่นในเรื่องต่อไปนี้ตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักความรับผิดชอบ หลักการมีส่วนร่วม และหลักความคุ้มค่า ในส่วนสุดท้าย ผู้วิจัยได้เสนอแนวทางบางประการในการพัฒนากระบวนการสรรหาอธิการบดีไว้ด้วย