Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการดำเนินการตามนโยบายการศึกษาสำหรับเด็กไร้สัญชาติ เพื่อศึกษาปัญหาและข้อจำกัด ในการนำนโยบายการศึกษาไปปฏิบัติ และเพื่อเสนอแนวทางการจัดศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเด็กไร้สัญชาติในประเทศไทย ซึ่งรูปแบบในการวิจัยครั้งนี้เป็นระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ การได้มาซึ่งข้อมูลที่สำคัญคือการวิจัยเอกสารและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกโดยมีผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่ ผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารจากสำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ภาคตะวันออก จากผู้อำนวยการและครูในสถานศึกษา ในจังหวัดชลบุรี จำนวน 8 ราย ผลการวิจัยพบว่าการนำเสนอผลการศึกษาในส่วนนี้ผู้วิจัยได้นำเสนอออกเป็น 2 ใหญ่ๆ ดังนี้คือ โครงสร้างการจัดการศึกษาเด็กไร้สัญชาติในประเทศไทย การจัดโครงสร้างการจัดการศึกษาเด็กไร้สัญชาติของประเทศไทย เป็นโครงสร้างระบบราชการ การบริหารแบบ Top down การสั่งการเป็นแนวดิ่งเน้นการรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง มีลำดับชั้นบังคับบัญชามาก มีความเป็นทางการสูง การปฏิบัติงานถูกกำหนดโดยมีระเบียบเป็นตัวกำกับโดยมิได้ศึกษาความพร้อมของพื้นที่ นโยบายขาดความชัดเจน มีปัญหาในทางปฏิบัติและทำให้เกิดความล่าช้าและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยมติรัฐมนตรี ที่ได้ออกมาเป็นเวลานานแล้ว ควรต้องมีการแก้ไข และปรับปรุงให้ทันยุคสมัย โดยอ้างอิงจากข้อมูลจริง สถานที่จริงและความต้องการของครูและเด็กนักเรียนไร้สัญชาติในพื้นที่ต่างๆ อย่างทันเวลาและทันสมัย จากผลการวิจัย ได้เสนอแนวทางทางการจัดศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเด็กไร้สัญชาติในประเทศไทย ดังนี้ รูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กไร้สัญชาติ ควรจัดแบบผสมผสาน ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อเป็นการสร้างโอกาสและทางเลือกทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียน และตอบสนองความต้องการของผู้เรียน เนื้อหานโยบายหลักสูตรไม่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เน้นคุณลักษณะและเจตคติมากกว่าทักษะสากลที่จำเป็น หลักสูตรมีลักษณะอนุรักษนิยมสูงให้ความสำคัญกับพื้นฐานความเป็นไทย โดยมีลักษณะเด่นที่การมุ่งเน้นคุณธรรมจริยธรรม ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์และเศรษฐกิจพอเพียง ขณะที่การนำนโยบายหลักสูตรสู่การปฏิบัติยังคงเป็นแบบทฤษฎีบนลงล่างสอดคล้องกับการบริหารราชการแบบรวมศูนย์อำนาจค่อนข้างมาก อำนาจการตัดสินใจด้านการบริหารบุคคลอยู่ในระดับเขตพื้นที่ นอกจากนี้ การที่หลักสูตรมีหลายกลุ่มสาระขณะที่ครูมีภาระงานอื่นนอกเหนืองานสอนในปริมาณมากนับเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ครูไม่ได้มีเวลาอยู่กับผู้เรียน การจัดการเรียนการสอนยังคงเน้นการบรรยายบอกเล่าท่องจำและครูยังคงมีบทบาทสำคัญเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้มากกว่าที่จะเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในแบบการสร้างความรู้ด้วยตนเอง