Abstract:
บริบท การระบาดของโรคโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19) ได้ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพกับผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยงในการติดเชื้อและเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้มากขึ้น วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะทางจิตใจกับกลยุทธ์ในการเผชิญปัญหาและความรู้ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันในช่วงการระบาดของเชื้อ
โควิด-19
วิธีการศึกษา ทำการศึกษาเชิงวิเคราะห์ ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยใช้แบบสอบถามในระหว่างวันที่ 31 เดือนสิงหาคม ถึงวันที่ 2 เดือนกันยายน พ.ศ. 2563 แบบสอบถามที่ใช้ในงานวิจัยประกอบด้วย 4 ส่วน ดังนี้ ข้อมูลทั่วไป General Health Questionnaire-28 ฉบับภาษาไทย (Thai GHQ-28) กลยุทธ์ในการเผชิญปัญหาและความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 แจกแบบสอบถามให้บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา จำนวน 100 ราย โดยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง Thai GHQ-28 กับกลยุทธ์ในการเผชิญปัญหาและความรู้ของบุคลากรทางการแพทย์ด้วยสถิติ Pearson’s correlation
ผลการศึกษา ได้รับแบบสอบถามกลับคืนมาโดยสมบูรณ์ จำนวน 83 ฉบับ(ร้อยละ 83) พบบุคลากรทางการแพทย์มีปัญหาทางสุขภาพจิต (Thai GHQ-28 ≥ 6) มีจำนวน 19 ราย (ร้อยละ 22.9) คะแนนเฉลี่ยของ Thai GHQ-28 กลยุทธ์ในการเผชิญปัญหา และคะแนนความรู้ คือ 2.94±4.2 (คะแนนเต็ม 28), 28.9±5.8 (คะแนนเต็ม 48) และ 14.2±1.3 (คะแนนเต็ม 16) ตามลำดับ จากการวิเคราะห์ทางสถิติยังไม่พบความสัมพันธ์ระหว่าง Thai GHQ-28 กับความถี่ของกลยุทธ์ที่ใช้ในการเผชิญปัญหาและความรู้ของบุคลากรทางการแพทย์
สรุป บุคลากรทางการแพทย์ประมาณหนึ่งในสี่ประสบปัญหาทางสุขภาพจิตระหว่างการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ดังนั้นจึงควรให้ความช่วยเหลือทางด้านจิตใจแก่บุคลากรทางการแพทย์เพื่อช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตให้ดีขึ้น