Abstract:
บริบท การใช้ค่าความแม่นยำในการจัดท่าเฉลี่ยของสถาบันแทนการใช้ค่าความแม่นยำในการจัดท่าของนักรังสีการแพทย์รายบุคคลสำหรับแปลผลร้อยละการเปลี่ยนแปลงของความหนาแน่นกระดูก ในผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจติดตามผล อาจเกิดความไม่แน่นอนในการแปลผล
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาหาความสอดคล้องระหว่างค่าความแม่นยำรายบุคคลและค่าเฉลี่ยความแม่นยำของสถาบันในการจัดท่าสำหรับตรวจติดตามผลความหนาแน่นกระดูกวิธีการ การวิจัยแบบตัดขวางที่รวบรวมข้อมูลผลการตรวจความหนาแน่นกระดูกที่ตรวจด้วยเครื่อง DXA ของผู้มารับบริการในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพาระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2557 จำนวน 120 ราย ผู้วิจัยวิเคราะห์ค่าความแม่นยำในการจัดท่าของนักรังสีการแพทย์แต่ละรายและค่าความแม่นยำในการจัดท่าเฉลี่ยของสถาบัน จากนั้นผู้วิจัยจะส่งแบบฟอร์มการเก็บข้อมูลให้รังสีแพทย์เพื่อแปลผลการเปลี่ยนแปลงของความหนาแน่นกระดูกของผู้มารับบริการตรวจติดตามผลความหนาแน่นกระดูก จำนวน 120 ราย ผู้วิจัยวิเคราะห์ความสอดคล้องของค่าความแม่นยำ ในการจัดท่าทั้งสองวิธีด้วยค่าร้อยละของความสอดคล้องและทดสอบนัยสำคัญด้วยสถิติ kappa analysis
ผลการศึกษา ค่าความแม่นยำในการจัดท่าเฉลี่ยของสถาบันที่กระดูกสันหลังระดับบั้นเอว กระดูกต้นขาส่วนคอ กระดูกข้อสะโพกรวม และกระดูกข้อมือคือ ร้อยละ 3.20 ร้อยละ 2.91 ร้อยละ 2.73 และร้อยละ 3.01 ตามลำดับ ความสอดคล้องระหว่างค่าความแม่นยำในการจัดท่าทั้งสองวิธีมีความแตกต่างกันระหว่างนักรังสีการแพทย์ (p<0.05) ตำแหน่งของกระดูกข้อสะโพกรวมมีความถูกต้องในการแปลผลมากที่สุด (ร้อยละ 95.2; 95%CI 89.9 - 100.0) รองลงมาคือกระดูกต้นขาส่วนคอ (ร้อยละ 80.6; 95%CI 70.8 - 90.4) ส่วนกระดูกสันหลังระดับบั้นเอว (ร้อยละ 75.8; 95%CI 65.1 - 86.5) และกระดูกข้อมือ (ร้อยละ 77.4; 95%CI 67.0 - 87.8) มีความถูกต้องไม่สูงมากนัก สรุป จากการศึกษานี้พบว่าเมื่อใช้ค่าความแม่นยำในการจัดท่าเฉลี่ยของสถาบัน ซึ่งมาจากค่าเฉลี่ยของนักรังสีการแพทย์รายบุคคลภายในสถาบัน ในการแปลผลร้อยละการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นกระดูก เปรียบเทียบกับการใช้ค่าความแม่นยำในการจัดท่าของนักรังสีการแพทย์รายบุคคล พบว่าตำแหน่งของกระดูกข้อสะโพกรวมมีความถูกต้องในการแปลผลมากที่สุด และพบว่าร้อยละของความสอดคล้องมีที่ตำแหน่งของกระดูกข้อสะโพกรวมเพียงตำแหน่งเดียว จึงสรุปได้ว่าค่าความแม่นยำในการจัดท่าเฉลี่ยของสถาบันไม่มีความสอดคล้องกับค่าความแม่นยำในการจัดท่าของนักรังสีการแพทย์รายบุคคล ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้ค่าความแม่นยำในการจัดท่าเฉลี่ยของสถาบัน แทนการใช้ค่าความแม่นยำในการจัดท่าของนักรังสีการแพทย์รายบุคคลสำหรับประกอบการแปลผลการตรวจติดตามความหนาแน่นกระดูกได้