Abstract:
บทนำ : ประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตที่เกิดจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์สูงที่สุดในโลก ส่วนใหญ่เกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ.2562 พบอุบัติเหตุจากการจราจรเฉลี่ยเดือนละ 262 ราย ร้อยละ 88.6 เป็นอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ และร้อยละ 74.5 เป็นผู้ป่วยมีการบาดเจ็บที่ศีรษะวัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนาต้นแบบการขับขี่ปลอดภัยอัจฉริยะสำหรับป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะจากอุบัติเหตุทางถนนของรถจักรยานยนต์ในเขตเทศบาลเมืองแสนสุข
วิธีการศึกษา : การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบไปข้างหน้าภาคตัดขวาง (Prospective cross-sectional study) โดยแบ่งการวิจัยเป็น ๓ ระยะ ได้แก่ ระยะที่ ๑ การวิเคราะห์สถานการณ์การบาดเจ็บของผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะจากอุบัติเหตุจักรยานยนต์ในเขตเทศบาลเมืองแสนสุข รวมทั้งข้อมูลของถนนและสิ่งแวดล้อม ณ จุดเกิดเหตุ ระยะที่ ๒ การสะท้อนผลการปฏิบัติ ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ผ่านการสัมมนา เพื่อประเมินสภาพความรุนแรงของปัญหา และกำหนดแนวทางปฏิบัติด้านการบริหารจัดการการป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ และระยะที่ ๓ การพัฒนาต้นแบบการขับขี่ปลอดภัยอัจฉริยะสำหรับป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ผ่านการจัดสัมมนาร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ (๑) ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเนื่องจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ในเขตเทศบาลเมืองแสนสุขและพื้นที่ข้างเคียง (อ่างศิลา บางพระ และห้วยกะปิ) ที่ได้รับการส่งตัวมาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา ระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ.2563 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564 จำนวน ๑๔๒ คน ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป (๒) ข้อมูลของถนนและสิ่งแวดล้อม ณ จุดเกิดเหตุ การศึกษาเชิงปริมาณ วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานทางด้านประชากรด้วยสถิติเชิงพรรณนา และวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดอุบัติเหตุมอเตอร์ไซด์ในเทศบาลเมืองแสนสุขด้วยสถิติ logistic regression โดยรายงานผลด้วยค่า OR พร้อมด้วยช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ ๙๕ (๒) การศึกษาเชิงคุณภาพ ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา วิเคราะห์สภาพ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภาวะคุกคาม รวมทั้งอุปสรรคที่จะมีผลต่อความสำเร็จ และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อเสนอต้นแบบของ “Smart safe driving model for preventing head injuries from motorcycles traffic accidents in Saensuk Municipality”
ผลการศึกษา : การคัดแยกผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ ณ สถานที่เกิดเหตุ (Field triage) แบ่งเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงระดับ 1-2 (Resuscitation/Emergency) กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงระดับ 3-5 (Urgent/Semi-Urgent/Non-Urgent) ผลการวิเคราะห์แบบ multivariate logistic regression พบว่า เพศชายสัมพันธ์กับความเสี่ยงระดับ 1-2 มากกว่าเพศหญิง 2.81 เท่า (OR = 2.81, 95% CI: 1.06-7.43,
p=0.038) ผู้สูงอายุสัมพันธ์กับความเสี่ยงระดับ 1-2 มากกว่าวัยนักเรียนมัธยม 24.17 เท่า (OR = 24.17, 95% CI: 2.37-246.61, p=0.007) ผู้ป่วยที่ดื่มแอลกอฮอล์สัมพันธ์กับความเสี่ยงระดับ 1-2 มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ดื่ม 4.06 เท่า (OR = 4.06, 95% CI: 1.26-13.07, p=0.019) ส่วนการไม่สวมหมวกกันน็อคพบว่าไม่สัมพันธ์กับความเสี่ยงระดับ 1-2 (OR = 1.07, 95% CI: 0.41-2.78, p=0.890) ผู้ป่วยที่นำส่งโดยรถมูลนิธิ/กู้ชีพ/กู้ภัยสัมพันธ์กับความเสี่ยงระดับ 1-2 มากกว่าผู้ป่วยมาเอง 6.90 เท่า (OR = 6.90, 95% CI: 2.69-17.65, p<0.001) ส่วนผู้ป่วยที่นำส่งโดยรถ EMS เป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงระดับ 1-2 ทุกราย ส่วนช่วงเวลากลางคืนสัมพันธ์กับความเสี่ยงระดับ 1-2 เมื่อวิเคราะห์ด้วย univariate analysis (crude OR = 2.62, 95% CI: 1.27-5.40, p=0.009) แต่ไม่พบความสัมพันธ์หลังจากวิเคราะห์ด้วย multivariate analysis พื้นที่ที่มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ศรีษะจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนนของรถจักรยานยนต์มากที่สุด ได้แก่ ถนนหมายเลข ๓๑๓๗ (ถนนลงหาดบางแสน) ร้อยละ ๑๙.๖ รองลงมา ได้แก่ ถนนสุขุมวิท และถนนบางแสนสาย ๑ (ถนนเลียบชายหาดวอนนภา-ชายหาดบางแสน) ร้อยละ ๑๗.๙ และ ๑๐.๗ ตามลำดับ
สรุปและข้อเสนอแนะ : การบาดเจ็บที่ศีรษะจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในเขตเทศบาลเมืองแสนสุขยังเป็นปัญหาสาธารณสุข การศึกษาวิจัยนี้เป็นฐานข้อมูลที่เสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการพัฒนาระบบ การแก้ปัญหา และการศึกษาต่อยอดต่อไป