Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ วิเคราะห์เงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อการก่อเกิดและขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก วิเคราะห์ผู้กระทำการที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และนำเสนอทางเลือกการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยใช้มโนทัศน์เกี่ยวกับลัทธิเสรีนิยมใหม่และเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเครื่องมือทำความเข้าใจ ผลการศึกษา พบว่า เงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อการก่อเกิดและขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประกอบด้วย 3 เงื่อนไข คือ หนึ่ง การมีอำนาจพิเศษของรัฐรวมศูนย์ สอง การผลิตซ้ำเพื่อสืบทอดอุดมการณ์ทุนนิยม และสาม ความพร้อมและความได้เปรียบเชิงพื้นที่ ส่วนผู้กระทำการที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ในกระบวนการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประกอบด้วย 4 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1. รัฐและกลไกรัฐ 2. กลุ่มทุน ทั้งกลุ่มทุนข้ามชาติ กลุ่มทุนชาติ 3. กลุ่มนักการเมืองระดับชาติและนักการเมืองท้องถิ่น และ4. กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน โดยผู้กระทำการเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์ ทั้งในรูปของความขัดแย้ง ความร่วมมือเพื่อปฏิบัติการทางสังคมตามอุดมการณ์และจุดยืนที่มีต่อการพัฒนา สำหรับทางเลือกการพัฒนาอยู่ภายใต้หลักการที่ว่า จะต้องทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้ ดังนั้นทางเลือกจึงประกอบด้วย 1. ให้ความสำคัญกับหลักธรรมาภิบาลในการพัฒนา 2. ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน 3. แก้ไขพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 4.ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 5. เพิ่มสัดส่วนภาคประชาชนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 6. ให้ความสำคัญกับการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษ 7. ปรับกระบวนทัศน์การดำเนินงานด้านความรับผิดชอบทางสังคม แปด ทบทวนและปรับปรุงแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เก้า สร้างความมั่นคงในการดำเนินชีวิตแก่ประชาชน