Abstract:
การศึกษาปริมาณเยื่อใยในสาหร่ายทะเลขนาดใหญ่ 3 ชนิด ได้แก่ Chaetomorpha sp. Sargassum sp. และ Gracilaria sp. พบว่า Gracilaria sp มีปริมาณเยื่อรวมทั้งหมดสูงสุด 55.58 % รองลงมาคือสาหร่าย Sargassum sp. (49.00%) และ Chaetomorpha sp. (36.42%) เมื่อนำปริมาณเยื่อรวมทั้งหมดมาแจกแจงเป็นกลุ่มเยื่อใยที่ละลาย และกลุ่มที่ไม่ละลายน้ำพบว่า Gracilaria sp. มีปริมาณเยื่อใยดังกล่าวสูงสุด 6.97 และ 48.61% ตามลำดับ เมื่อนำสาหร่ายทะเลทั้ง 3 ชนิดมาทดสอบสกัดเยื่อใยแบบหยาบ (Crude fiber extraction) ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน 3 วิธี ได้แก่ วิธีที่ 1) การสกัดด้วยน้ำร้อน วิธีที่ 2) การสกัดด้วยด่างและตัวทำละลายอินทรีย์ และวิธีที่ 3) การสกัดด้วยเอนไซม์ หลังจากนั้นจึงนำเยื่อใยแบบหยาบที่สกัดได้ไปวิเคราะห์ปริมาณเซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และลิกนิน ด้วยวิธี Detergent Method พบว่า การสกัดเยื่อใยด้วยวิธีที่ 3 (การสกัดด้วยเอนไซม์) ทำให้สาหร่ายทั้ง 3 ชนิดมีปริมาณเซลลูโลสสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการสกัดอื่น ๆ โดยสาหร่าย Chaetomorpha sp. เป็นชนิดที่ตรวจพบปริมาณเซลลูโลสในสารสกัดเยื่อใยแบบหยาบสูงที่สุด (77.48%) ส่วนวิธีที่ 1 (การสกัดด้วยน้ำร้อน) เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการสกัดเฮมิเซลลูโลส โดยสาหร่าย Gracilaria sp. เป็นชนิดที่มีปริมาณเฮมิเซลลูโลสสูงสุด (56.61%) โดยสาหร่ายทั้ง 3 ชนิดมีปริมาณลิกนินต่ำอยู่ในช่วง 4.47 0.57%
เมื่อนาเยื่อใยของสาหร่ายทั้ง 3 ชนิดที่สกัดด้วยวิธีการที่แตกต่างกันมาตรวจสอบสารต้านอนุมูลอิสระ พบว่า สาหร่าย Gracilaria sp. ที่สกัดด้วยวิธีที่ 2 (การสกัดด้วยด่างและตัวทำละลายอินทรีย์) มีปริมาณฟีนอลิกทั้งหมดสูงสุด (0.213±0.016 mg_GAE/g) เมื่อตรวจสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ DPPH free radical scavenging activity พบว่า เยื่อใยสาหร่ายจาก Chaetomorpha sp. ที่สกัดด้วยวิธีที่ 1 (การสกัดด้วยน้ำร้อน) มีฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระสูงสุดเมื่อ เปรียบเทียบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระกับเยื่อใยที่สกัดได้จากสาหร่ายทะเลในชุดการทดลองอื่น ๆ โดยมี ค่า IC50 เท่ากับ 10,503.16 ± 516.93 ppm แต่เมื่อเปรียบเทียบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระดังกล่าวกับสารมาตรฐานวิตามินซีพบว่า มีค่าต่ำกว่าสารมาตรฐาน 4,049.02 เท่า โดยเยื่อใยที่สกัดได้จากสาหร่ายส่วนใหญ่มีค่า pH เป็นกลางในช่วง 7.27 7.77 นอกจากนี้พบว่า ความชื้นในสารสกัดเยื่อใยมีค่าต่ำสุดในสาหร่าย Chaetomorpha sp. (0.82 ± 0.26%) ที่สกัดด้วยวิธีที่ 3 (การสกัดด้วยเอนไซม์) ส่วนเยื่อใยจากสาหร่าย Gracilaria sp. ที่สกัดด้วยเอนไซม์มีความสามารถในการอุ้มน้ำของใยอาหารสูงสุด 0.32 ± 0.01%