Abstract:
จากรายงาน Global Climate Risk Index 2021 ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลกระทบมากที่สุดจากภาวะสภาพอากาศแบบสุดขั้วในช่วงปี ค.ศ. 2000-2019 เช่น คลื่นความร้อน ปริมาณฝนตกแบบสุดขั้ว อุทกภัยบริเวณชายฝั่งทะเล เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถูกคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเหตุการณ์ภาวะสภาพอากาศแบบสุดขั้ว รายงานการศึกษานี้สนใจบทบาทของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการเป็นสมาชิกแนวร่วมเจรจาในกระบวนการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และสมาคมสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหมายถึงกลุ่มของตัวแสดงระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลิตสินค้าสมาคมหรือประโยชน์เฉพาะสมาชิก งานวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ การวิจัยเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้ให้สัมภาษณ์คือเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ และ/หรือ การปฏิบัติงานร่วมกับสถาบันระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องประเทศไทยเป็นสมาชิกของแนวร่วมเจรจา 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 77 และจีน (G-77 and China) กลุ่มประเทศพันธมิตรป่าเขตร้อน (CfRN) และกลุ่มเจรจาด้านการเกษตรของอาเซียน (ANGA) บทบาทพื้นฐานของประเทศไทยในฐานะสมาชิกคือ การแสดงทัศนะในการประชุมประสานงานของกลุ่ม ประเทศไทยมีบทบาทเพิ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2016 ในฐานะประธานของกลุ่ม 77 และจีน โดยเป็นผู้แทนของกลุ่มในการประชุมต่าง ๆ และประสานงานการเจรจาของกลุ่ม ประเทศไทยมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง ANGA และจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มสมรรถนะของผู้เจรจาจากอาเซียนและอื่น ๆ ที่สนใจ นอกแนวร่วม ประเทศไทยมีบทบาทเดี่ยวโดยการแสดงข้อคิดเห็นในระหว่างการประชุมดังที่เห็นจากภาคป่าไม้และตลาดคาร์บอน และไม่จำเป็นต้องเสนอท่าทีร่วมกับแนวร่วมที่ตนเป็นสมาชิกเท่านั้น
จากการศึกษาสถาบันระหว่างประเทศ 7 สถาบันที่จัดเป็นสมาคมสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ ปฏิญญานครนิวยอร์กว่าด้วยป่าไม้ กองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ ทบวงพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ องค์กรหุ้นส่วนพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพพลังงาน ความร่วมมือเรื่องสภาพภูมิอากาศและอากาศสะอาด และพันธมิตรนานาชาติการวิจัยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร ประเทศไทยมีบทบาทในฐานะผู้เข้าร่วม โดยเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ เป็นประจำเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะและผลงาน และดำเนินโครงการร่วมกับสถาบันหรือได้รับการสนับสนุนทางการเงินหรือผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเหล่านั้น ประเทศไทยมีหรือเคยมีบุคลากรทำหน้าที่ผู้บริหารของกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ และองค์กรหุ้นส่วนพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพพลังงาน ซึ่งแสดงศักยภาพของบุคลากรไทยในการบริหารงานระดับระหว่างประเทศ