Abstract:
บทนำ: โรคเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการติดเชื้อราที่ผิวหนังและเล็บ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพลภาพจากการติดเชื้อแบคทีเรียและเป็นแผลเรื้อรัง
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความชุก ปัจจัยเสี่ยง และชนิดเชื้อราก่อโรคในผู้ที่มีโรคเชื้อราที่เล็บในผู้ป่วย
เบาหวาน
วิธีการศึกษา: ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป และรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล
มหาวิทยาลัยบูรพา ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึง 31 สิงหาคม 2563 โดยผู้ร่วมการศึกษาจะได้รับการสัมภาษณ์ประวัติ ตรวจเล็บมือและเล็บเท้า โดยแพทย์ หากมีหลักฐานสงสัยว่าเป็นโรคเชื้อราที่เล็บ จะได้รับการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมได้แก่ การตรวจโดยการขูดเชื้อราและย้อม Potassium hydroxide (KOH preparation), การย้อมพิเศษด้วย Periodic Acid Schiff (PAS) และการเพาะเชื้อรา
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยเบาหวานเข้าร่วมการศึกษา 304 ราย เป็นเพศชาย ร้อยละ 45.72 อายุเฉลี่ย 63 ปี พบการติดเชื้อราที่เล็บ 52 ราย คิดเป็นร้อยละ 17.11 เชื้อก่อโรคที่พบในโรคเชื้อราที่เล็บมากเป็นลำดับแรกคือ non-dermatophyte ได้แก่ Aspergillus niger complex 10 ราย, Aspergillus flavus complex 7 ราย และพบน้อยที่สุดเป็น dermatophyte ได้แก่ Trichosporon inkin 1 ราย ผู้ป่วยเบาหวานที่มีการติดเชื้อราที่เล็บมีอายุมากกว่าที่ไม่มีการติดเชื้อราที่เล็บอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (อายุ 70 และ 61 ปี) พบว่า อายุที่มากกว่า 60 ปีขึ้นไปเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการติดเชื้อราที่เล็บในผู้ป่วยเบาหวานโดยมีค่า Risk ratio 3.159 (95%CI = 1.599-6.240) (p = 0.0001)
สรุปผลการศึกษา: อายุมากกว่า 60 ปีเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มการติดเชื้อราที่เล็บ และพบว่า Aspergillus
spp. เป็นเชื้อก่อโรคที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยเบาหวานที่ติดเชื้อราที่เล็บ ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานที่มีการติดเชื้อราที่เล็บควรมีการส่งเพาะเชื้อราที่เล็บการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและให้การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ