Abstract:
บทนำและวัตถุประสงค์ : แอพพลิเคชั่นทางมือถือเป็นเครื่องมือที่นิยมนามาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพของ Love Thyroid app สำหรับผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษที่มารักษาด้วยการกลืนแร่
วิธีการศึกษา : เป็นการวิจัยเชิงทดลองในผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปและเข้ารับการรักษาด้วยการกลืนแร่ ณ คลินิกไทรอยด์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพาในเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 จำนวน 120 ราย โดยผู้ป่วยประเมินประสิทธิภาพด้านการใช้งานและด้านการยอมรับของ Love Thyroid app และสมุดประจำตัวผู้ป่วย ซึ่งวิเคราะห์เปรียบเทียบประสิทธิภาพของสื่อทั้งสองชนิดด้วย Wilcoxon sign rank test (matched paired)
ผลการศึกษา ผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ย 39 ปีและส่วนใหญ่ใช้สมาร์ตโฟนที่มีระบบปฏิบัติการแบบ Android (ร้อยละ 80.0) ผู้ป่วยให้คะแนนประโยชน์ของเนื้อหาใน app และสมุดประจำตัวผู้ป่วยในระดับดีขึ้นไปและคะแนนไม่แตกต่างกัน (p=0.8242) แต่พบว่า app ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการติดตามการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่า (p=0.0107) การออกแบบมีความน่าสนใจมากกว่า (p=0.0139) สะดวกต่อการพกพามากกว่า (p<0.0001) และมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวสูงกว่า (p=0.0006) ผู้ป่วยยังพึงพอใจในการใช้งานของ app มากกว่า (p<0.0001) และยังแนะนำผู้อื่นให้ใช้ app มากกว่าใช้สมุดประจำตัวผู้ป่วย (p<0.0001) อีกด้วย
สรุปและข้อเสนอแนะ : Love Thyroid app ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษที่เข้ารับการกลืนแร่ได้ดีกว่าสมุดประจำตัวผู้ป่วย การพัฒนา app ในงานวิจัยนี้จึงเป็นต้นแบบที่ดีของการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดูแลรักษาผู้ป่วยในยุคปัจจุบัน