Abstract:
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร(Executive Summary)
ในการดำเนินงานเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ในสถานประกอบการจังหวัดชลบุรีมีข้อสรุป และข้อเสนอแนะดังนี้
ลักษณะปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย
จังหวัดชลบุรีมีผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับ 3 ของภาคตะวันออก เนื่องจากมีแหล่งอุตสาหกรรมมากทำให้มีผุ้อพยพจากภูมิภาคเพื่อมาทำงาน โดยมีสถานประกอบการจำนวน14,637 แห่ง ผุ้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคมจังหวัด 521,985 คน ในปี2551
นอกจากมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมแล้ว จังหวัดชลบุรียังมีการขยายตัวของชุมชนเมือง ซึ่งพนักงานจำนวนมากเป็นเยาวชนและวัยแรงงานซึ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การแพร่ระบาดของเชื้อเอช ไอ วี/เอดส์ดังกล่าว มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ได้แก่ การมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ การเปลี่ยนคู่นอน พนักงานในสถานประกอบการยังขาดความตระหนักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ขณะที่มีข้อจำกัดในการได้รับความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และอุปกรณ์ในการป้องกัน รวมทั้งขาดข้อมูลแหล่งบริการและการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่ให้บริการการป้องกันและการดูแลรักษา ในกรณีเมื่อพบมีการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ อาจถูกการรังเกียจ กีดกัน และเลิกจ้าง
การให้ความคุ้มครองดูแลรักษาผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม ที่ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ประกันตนที่เป็นโรคเอดส์นั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากผู้ประกันตนได้รับการรักษาและรับยาต้านไวรัสเอดส์อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สามารถใช้ชีวิตได้ยาวนานขึ้น และบางรายยังคงทำงานได้ตามปกติ ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายในการรักษา และในบางส่วนของการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ สำนักงานประกันสังคมจะเหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นทุกปี จำเป็นที่ต้องมีการหามาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์
กลวิธีในการดำเนินงาน
ได้ดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่1 การทบทวนวรรณกรรมและศึกษาแนวทางพัฒนากลวิธีที่มีประสิทธิผลในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการป้องกันโรคเอดส์ในพนักงานในสถานประกอบการ ระยะที่2 การพัฒนาเครื่องมือและคู่มือในการนำไปใช้ในสถานประกอบการ และระยะที่3 ผลของโครงการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบการและผลของโปรแกรมการให้ความรู้แบบกระบวนการกลุ่มร่วมกับการใช้สื่อวีดิทัศน์ที่มีต่อพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ของพนักงานในสถานประกอบการ
การพัฒนาสมรรถนะของผู้ที่เกี่ยวข้อง
เนื่องจากการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในสถานประกอบการมีความเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ผู้บริหาร ฝ่ายบุคคล และพนักงานสถานประกอบการที่จะต้องมีความเข้าใจและความตระหนักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ การดำเนินการจึงต้องสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การให้ข้อมูลในแต่ระดับมีความแตกต่างกัน ตั้งแต่ผู้บริหารเป็นการพัฒนาโครงสร้างระดับนโยบาย ฝ่ายบุคคลต้องมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ การประสานงานและระบบส่งต่อสถานบริการ จนถึงผู้ปฏิบัติงานและพนักงานสถานประกอบการในการพัฒนาทักษะด้านการป้องกันปัญหา และลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์
สัมฤทธิผลของโครงการ
การมีส่วนร่วมและการขยายเครือข่ายการดำเนินงานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถาบันการศึกษา เพื่อดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ในสถานประกอบการจังหวัดชลบุรี
ข้อจำกัด
เนื่องจากการดำเนินงานโครงการมีระยะเวลาในการดำเนินงานสั้นและขาดบุคลากรในการฝึกอบรมพนักงานในสถานประกอบการ
การดำเนินงานที่ต่อเนื่อง
ขยายโปรแกรมการให้ความรู้แบบกระบวนการกลุ่มร่วมกับการใช้วีดิทัศน์ไปสู่สถานประกอบการอื่นๆ สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทเป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ในสถานประกอบการในเขตพื้นที่ โดยจัดให้มีการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการ และขอความร่วมมือสถานประกอบการทุกแห่งให้ดำเนินการต่อเนื่อง
ข้อเสนะแนะ
1. จังหวัดชลบุรีกำหนดนโยบายให้มีการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ในสถานประกอบการจังหวัดชลบุรี โดยบูรณาการร่วมกับการแก้ไขปัญหาสารเสพติด และการสร้างเสริมสุขภาพของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
2. สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดประสานให้มีนโยบายและกลไกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในสถานประกอบการโดย
2.1 พัฒนาฝ่ายบุคคลของสถานประกอบการ ให้มีความสามารถเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ แก่พนักงานในสถานประกอบการ ในสถานประกอบการขนาดใหญ่กำหนดให้มีนักสุขศึกษาอาชีวเวชศาสตร์หรือเจ้าพนักงานด้านความปลอดภัย ปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ โดยให้สามารถบริหารจัดการแก้ไขปัญหา ตลอดจนการดำเนินการในระบบส่งต่อสถานบริการสุขภาพ
2.2 ให้ฝ่ายบุคคลของสถานประกอบการมีการจัดฝึกอบรมในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ แก่พนักงานในสถานประกอบการ ในทุกแผนก และติดตามประเมินผล
2.3 มีการประสานงานกับโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพที่เป็นหน่วยคู่สัญญาหลักกับสำนักงานประกันสังคมใน เรื่องการให้มีผู้ให้คำปรึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์สำหรับพนักงานในสถานประกอบการ
3. สำนักงานประกันสังคมกำหนดให้โรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพที่เป็นหน่วยคู่สัญญาหลัก พัฒนาระบบงานส่งเสริม/ป้องกันเอดส์ เพศ อนามัยเจริญพันธ์ ให้สถานประกอบการ
4. โรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพ พัฒนาระบบบริการสุขภาพ ที่เป็นระบบส่งต่อสำหรับพนักงานในสถานประกอบการ
5. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณ และมีบทบาทเป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ในสถานประกอบการในเขตพื้นที่