Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ยุทธศาสตร์
การพัฒนาอุตสาหกรรมและผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อเสนอแนวทางและมาตรการ
เชิงนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด แนวคิดทฤษฎีที่ใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษา
ครั้งนี้ คือ แนวคิดการพัฒนา ผลการศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นว่า การเกิดขึ้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมใน
พื้นที่มาบตาพุด เปรียบเสมือนการผลิตซ้ำเพื่อสืบทอดอุดมการณ์แบบทุนนิยมที่มีภาคอุตสาหกรรม
เป็นจักรกลในการขับเคลื่อน นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา กล่าวได้ว่า การพัฒนา
อุตสาหกรรมภายใต้ตัวแบบมาบตาพุด มีพัฒนาการอยู่ 4 ช่วงใหญ่ ๆ คือ ยุคแรก เป็นการพัฒนา
อุตสาหกรรมยุคเริ่มต้นโดยมีรัฐและกลไกรัฐ เป็นผู้มีบทบาทนำในการพัฒนา ยุคสอง เป็นการพัฒนา
อุตสาหกรรมยุคทะยานขึ้น เนื่องจากการเคลื่อนย้ายทุนและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
ยุคสาม เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมท่ามกลางวิกฤติสิ่งแวดล้อม และยุคที่สี่ เป็นการพัฒนา
อุตสาหกรรมยุคระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก
กล่าวได้ว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและ
ผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการพัฒนา
อุตสาหกรรมทุกภาคส่วน ความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบดังกล่าว มีผลต่อปฏิกิริยาและปฏิบัติการ
ทางสังคมหลากหลายรูปแบบ ดังกรณีกลุ่มทุนในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการขับเคลื่อนการพัฒนา
อุตสาหกรรมในพื้นที่ต่อไป เพราะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรง ขณะที่กลุ่มทุนนายท้องถิ่นต้องการ
ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมประนีประนอม ซึ่งกันและกัน
เช่นเดียวกับกลุ่มชนชั้นนำท้องถิ่นที่พยายามต่อรอง เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์จากโรงงาน
อุตสาหกรรม ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตอิสระรายย่อยในภาคเกษตรกรรมต้องการสร้างการดำรงอยู่ของ
การผลิตในภาคเกษตรกรรมท่ามกลางการปิดล้อมของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม หรือกลุ่มผู้บริการ
รายย่อยที่พยายามสร้างความอยู่รอดท่ามกลางวิถีการผลิตในภาคอุตสาหกรรม
จากสถานการณ์และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด
ผู้วิจัย เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจ้าเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาในพื้นที่มาบตาพุด
ใหม่ เช่น การให้ความสำคัญกับกระบวนทัศน์การพัฒนาในรูปแบบของการกระจายรายได้ควบคู่กับ
ความเจริญเติบโต การสร้างความสมดุลภายใต้กระบวนการพัฒนา การให้ความส้าคัญแนวคิดการมี
ส่วนร่วมในการพัฒนา เป็นต้น นอกจากนี้จะต้องมีการสร้างมาตรการเชิงปฏิบัติเพื่อการขับเคลื่อน
การพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น การใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ในการจัดการสิ่งแวดล้อม การปฏิรูป
ระบบการจัดเก็บภาษี รวมทั้งการออกกฎหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดเก็บ
ภาษีสิ่งแวดล้อม การสร้างและปรับปรุงมาตรการเพื่อป้องกันปัญหามลพิษจากการพัฒนาอุตสาหกรรม
เป็นต้น