Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพทางด้านดนตรีวิทยา มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาวัฒนธรรมดนตรีกับ วิถีชีวิตชุมชนในท้องถิ่นภาคตะวันออก : กรณีศึกษาเพลงรำสวด คณะอเนก สารเนตร จังหวัดตราด ผลการศึกษาพบว่า ในด้านประวัติความเป็นมาของการเล่นเพลงรำสวด คณะอเนก สารเนตร จังหวัดตราด นายอเนก สารเนตร ได้เริ่มหัดเล่นเพลงรำสวดอย่างประมาณปี พ.ศ. 2503 โดยเริ่มจากการเล่นเพลงรำสวดแบบดั้งเดิม คือ การใช้เนื้อหาจากบทสวดพระมาลัย ต่อมาจึงประยุกต์นำเนื้อเรื่องจากนิทานในวรรณคดีมาเป็นบทร้อง เรียกว่าการเล่นรำสวดแบบประยุกต์ มีเครื่องดนตรีประกอบที่สำคัญ ได้แก่ กลอง (ทำหน้าที่บรรเลงหลัก) ฉิ่ง และกรับ โดยผู้ที่บรรเลงดนตรีจะทำหน้าที่ร้องรับเป็นลูกคู่ประกอบการร้องไปด้วยในขณะแสดงรูปแบบอัตลักษณ์ในการแสดงจะเริ่มจากร้องบทไหว้พระพุทธ พระธรรมจบแล้วนั้น ก็จะย้อนกลับไปร้องสร้อยและร้องบทไหว้ครู ไหว้บิดร มารดา และจบด้วยบทสั่งเปรต หลังจากนั้นก็จะเป็นการร้องดำเนินเรื่อง โดยใช้เรื่องในวรรณคดีเป็นหลัก ลักษณะสำคัญของการแสดงรำสวดคณะอเนก สารเนตร เป็นการเล่นรำสวดแบบประยุกต์ที่จะนำนิทานในวรรณคดีมาเล่นเป็นเรื่องราว ทำให้ผู้ที่มาร่วมงานศพ ได้รับความเพลิดเพลินมากขึ้นถือเป็นแบบฉบับของคณะ มิได้มีการร้องเพลงลูกทุ่งหรือเพลงสมัยนิยม ทำให้ยังคงเอกลักษณ์หรือลักษณะเพลงพื้นบ้าน ที่เป็นคุณค่าของงานวัฒนธรรมเพลงดนตรีที่สำคัญ ที่ควรบันทึกและอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ต่อไป