Abstract:
การวิจัยเรื่อง “นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงจากมุมมองของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวในภาคตะวันออก” มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษานวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงจากมุมมองของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวในภาคตะวันออก 2) เพื่อศึกษาการพัฒนาการท่องเที่ยวในภาคตะวันออก 3) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคของนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงจากมุมมองของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวในภาคตะวันออก และ 4) เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงจากมุมมองของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวในภาคตะวันออก ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ได้เดินทางท่องเที่ยวในภาคตะวันออก กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ นักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จำนวน 400 คน โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างตามสะดวก เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ และการวิเคราะห์ การถดถอยพหุ ผลการวิจัย พบว่า
1) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นหญิง มีอายุต่ำ กว่า 31 ปี มีสถานภาพโสด มีการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่า มีรายได้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 10,000 บาทต่อเดือน
2) โดยรวมนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกอยู่ในระดับมาก โดยด้านการเสริมสร้างพลังแก่ชุมชนหรือประชาชนมีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ ด้านการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านความครบถ้วน ด้านการทำให้กระบวนการดีขึ้น และด้านการใช้ ภาคเอกชนและ
ผู้อาสาหรือองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐส่งมอบโปรแกรมเพื่อบรรลุเป้าหมายสาธารณะตามลำดับ
3) โดยรวมการพัฒนาการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกอยู่ในระดับมาก โดยด้านภาพลักษณ์มีคะแนนสูงที่สุด รองลงมาคือ ด้านทรัพยากรการท่องเที่ยว ด้านโครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยวและด้านความสามารถในการแข่งขัน ด้านกลไกการบริหารจัดการบูรณาการ ด้านการเพิ่มรายได้ของการท่องเที่ยว ด้านข้อมูลเชิงลึกเพื่อการวิเคราะห์ ด้านกฎหมายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและด้านบุคลากรการท่องเที่ยว ตามลำดับ
4) นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงจากมุมมองของนักท่องเที่ยวมีอิทธิพลต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวในภาคตะวันออก โดยด้านการใช้ภาคเอกชนและผู้อาสาหรือองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐส่งมอบโปรแกรมเพื่อบรรลุเป้าหมายสาธารณะมีอิทธิพลสูงที่สุด รองลงมาคือ การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ความครบถ้วน การทำให้กระบวนการดีขึ้น และการเสริมสร้างพลังแก่ชุมชนหรือประชาชน ตามลำดับ