Abstract:
สมาธิมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และผลของการฝึกสมาธิคือการสร้างความสมดุลทางร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์ ดังนั้นในการวิจัยนี้มุ่งพัฒนาวิธีปฏิบัติสมาธิแบบกำหนดนับลมหายใจและการปฏิบัติสมาธิแบบนับลมหายใจร่วมกับไบนิวรอลบีทซ์ที่มีต่อการควบคุมอารมณ์ และเพื่อศึกษาผลของการฝึกปฏิบัติสมาธิแบบกำหนดนับลมหายใจและการปฏิบัติสมาธิแบบนับลมหายใจร่วมกับไบนิวรอลบีทซ์ที่มีต่อการควบคุมอารมณ์ ด้วยการ (1) เปรียบเทียบการควบคุมอารมณ์ จากการศึกษาเชิงพฤติกรรมระหว่าง การปฏิบัติสมาธิแบบกำหนดนับลมหายใจ และการปฏิบัติสมาธิแบบกำหนดนับลมหายใจร่วมกับไบนิวรอลบีทซ์ (2) เพื่อเปรียบเทียบการควบคุมอารมณ์ จากการศึกษาคลื่นไฟฟ้าสมอง ระหว่างการปฏิบัติสมาธิแบบกำหนดนับลมหายใจและการปฏิบัติสมาธิแบบกำหนดนับลมหายใจร่วมกับไบนิวรอลบีทซ์ วิเคราะห์ลักษณะคลื่นไฟฟ้าสมองขณะนั่งสมาธิของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา กลุ่มตัวอย่างเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมการทดลอง มีอายุระหว่าง 18-23 ปี จำนวน 42 คน ประกอบด้วย กลุ่มปฏิบัติสมาธิแบบกำหนดนับลมหายใจ (กลุ่มควบคุม) จำนวน 21 คน และกลุ่มปฏิบัติสมาธิแบบกำหนดนับลมหายใจร่วมกับไบนิวรอลบีทซ์ (กลุ่มทดลอง) จำนวน 21 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบรายงานการควบคุมอารมณ์ และเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองระบบ Neuroscan และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงบรรยายและสถิติทดสอบที ผลการวิจัยปรากฏว่า
1. ผลการพัฒนาวิธีปฏิบัติสมาธิแบบกำหนดนับลมหายใจและวิธีปฏิบัติสมาธิแบบกำหนดนับลมหายใจร่วมกับไบนิวรอลบีทซ์มีความเหมาะสมซึ่งส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์ และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพลังงานคลื่นไฟฟ้าสมอง
2. ผลเปรียบเทียบการควบคุมอารมณ์จากการศึกษาเชิงพฤติกรรม (1) ก่อนการทดลอง เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยการควบคุมอารมณ์ พบว่า ด้านความยากลำบากในการควบคุมแรงกระตุ้นในกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ (2) หลังการทดลอง เปรียบเทียบการควบคุมอารมณ์ 6 มิติ พบค่าเฉลี่ยในกลุ่มควบคุมมากกว่ากลุ่มทดลอง
3. ผลเปรียบเทียบการควบคุมอารมณ์จากการศึกษาคลื่นไฟฟ้าสมอง (1) การปฏิบัติสมาธิในกลุ่มปฏิบัติสมาธิแบบกำหนดนับลมหายใจ และกลุ่มปฏิบัติสมาธิแบบกำหนดนับลมหายใจร่วมกับไบนิวรอลบีทซ์ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพลังงานคลื่นไฟฟ้าสมองคลื่นเธต้า (Theta) ช่วงเวลาพื้นฐาน (Baseline) ที่ตำแหน่งอิเล็กโทรด FZ TP7 CP1 (2) การปฏิบัติสมาธิในกลุ่มปฏิบัติสมาธิแบบนับลมหายใจและกลุ่มปฏิบัติสมาธิแบบนับลมหายใจร่วมกับไบนิวรอลบีทซ์ ไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพลังงานคลื่นไฟฟ้าสมองคลื่นอัลฟ่า (Alpha) ช่วงเวลาพื้นฐาน (Baseline) ที่ตำแหน่งอิเล็กโทรด (N/A) อธิบายคือไม่พบผลกระตุ้นจากการปฏิบัติสมาธิทั้ง 2 วิธี
สรุปการฝึกสมาธิแบบนับลมหายใจร่วมกับไบนิวรอลบีทซ์ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคลื่นเธต้าแต่ไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคลื่นอัลฟ่า