Abstract:
บทนำ บุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 สูง การดูแลบุคลากรในสถานพยาบาลที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 จึงควรได้รับการประเมินความเสี่ยงและการจัดการจากหน่วยงานอาชีวอนามัย และหน่วยงานควบคุมโรคติดเชื้อของโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์
วัตถุประสงค์ 1) เพื่อทบทวนแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงและการจัดการของบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสเชื้อโควิด-19 ที่เผยแพร่ในปัจจุบัน 2) เพื่อเผยแพร่เครื่องมือและวิธีการที่ใช้ประเมินความเสี่ยง
วิธีการศึกษา รวบรวมแนวทางปฏิบัติของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรทางแพทย์ จากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ผลการศึกษา การประเมินความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์อาศัยการประเมินการรับสัมผัสต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยอาศัยข้อมูล เช่น ระยะห่าง ระยะเวลา และความรุนแรงของเหตุการณ์สัมผัส การใส่หน้ากากป้องกันของผู้ป่วย กิจกรรมที่บุคลากรทำกับผู้ป่วย และการใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์จากนั้นบุคลากรจะถูกแบ่งระดับความเสี่ยงออกเป็นระดับสูง กลาง และต่ำ โดยมีกระบวนการจัดการบุคลากรที่เคร่งครัดแตกต่างกัน ที่ประกอบไปด้วย การหยุดการปฏิบัติงานและกักตัว การส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 การสังเกตอาการและวัดอุณหภูมิร่างกายเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วันหลังวันที่สัมผัสผู้ป่วยครั้งสุดท้าย และการปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย
สรุปผล เมื่อบุคลากรทางการแพทย์สัมผัสผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 ควรได้รับการประเมินความเสี่ยง ให้การจัดการตามระดับความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ