Abstract:
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาปัจจัยที่มีต่อการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม (2) สร้างแนวทางการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม (3) ยืนยันแนวทางการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้ให้ข้อมูลหลัก ได้แก่ กลุ่มระดับนโยบาย กลุ่มระดับฝ่ายปฏิบัติการ และกลุ่มประชาชนทั่วไป จำนวน 81 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหาและสรุปแนวทางการพัฒนาจากการสนทนากลุ่ม ผลการวิจัยพบว่า
1. ปัจจัยที่มีต่อการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ประกอบด้วย ปัจจัยหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการพัฒนาองค์การทางสังคม 2) ด้านการพัฒนาสถาบันทางสังคม 3) ด้านการพัฒนาทางวัฒนธรรม
2. การสร้างแนวทางการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ประกอบด้วยปัจจัยย่อย 15 ประการ ได้แก่
2.1 ด้านการพัฒนาองค์การทางสังคม มีปัจจัยย่อย 7 ปัจจัย ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบการขนส่งโลจิสติกส์, 2) การพัฒนาช่องทางเศรษฐกิจทางการค้า, 3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง, 4) การมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นต่อการพัฒนาทางสังคม, 5) การสนับสนุนจากภาคเอกชนด้านการลงทุนในพื้นที่, 6) การจ้างแรงงานในพื้นที่เพื่อความมั่นคงของท้องถิ่น และ 7) การใช้กฎหมายและข้อบังคับในการรักษาระเบียบของท้องถิ่น
2.2 ด้านการพัฒนาสถาบันทางสังคม มีปัจจัยย่อย 4 ปัจจัย ได้แก่ 1) การสร้างการรับรู้และปลูกจิตสำนึกรักท้องถิ่น, 2) การมีส่วนร่วมระหว่างเครือข่ายสถาบันทางสังคมทุกมิติ, 3) การสร้างความมั่นคงในอาชีพสร้างความอบอุ่นในครอบครัวในพื้นที่ และ 4) การพัฒนาสถาบันการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาและสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ
2.3 ด้านการพัฒนาทางวัฒนธรรม มีปัจจัยย่อย 4 ปัจจัย ได้แก่ 1) การสร้างการรับรู้ประเพณีในท้องถิ่นให้เกิดการยอมรับของคนภายนอก, 2) การรักษาวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เกิดการสืบต่อและต่อยอด, 3) การสร้างวัฒนธรรมเป็นเกราะสร้างศรัทธารักษาท้องถิ่น และ4) การสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
3. การยืนยันแนวทางการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 6 ปัจจัย ได้แก่ 1) การส่งเสริมเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ก่อเกิดความเอื้อเฟื้อทางสังคม 2) การสนับสนุนงบประมาณด้านการพัฒนาในท้องถิ่น 3) การพัฒนาระบบการคมนาคมเพื่อรองรับการท่องเที่ยว 4) การสร้างการยอมรับและการรับรู้ของประชาชน 5) การปลุกจิตสำนึกด้านบทบาทหน้าที่ของพลเมือง และ 6) การพัฒนาโครงสร้างทางสังคมผ่านมิติทางวัฒนธรรม