Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยในรูปแบบของการวิจัยเพื่อการปรับปรุงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อผลการประเมิน PISAของประเทศไทย 2) กำหนดแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งระเบียบวิธีวิจัยในการศึกษาครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาเอกสารงานวิจัยและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องและสังเคราะห์เอกสารรายงานผลการศึกษา PISA ของ OECD และ สสวท. ขั้นตอนที่ 2 สัมภาษณ์ผู้บริหารโครงการ PISA ประเทศไทย เจ้าหน้าที่รับผิดชอบ และศึกษานิเทศก์รับผิดชอบงาน PISA รวม 19 คน ขั้นตอนที่ 3 นำผลการศึกษาปัจจัยในขั้นตอนที่ 1 และขั้นตอนที่ 2 ไปสังเคราะห์เพื่อออกแบบเครื่องมือจัดเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียนสังกัด สพฐ. โรงเรียนเทศบาล โรงเรียนเอกชน วิทยาลัยสังกัดอาชีวศึกษา และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัย รวม 11 แห่ง ขั้นตอนที่ 4 สอบถามถามความคิดเห็นและเจตคตินักเรียนอายุ 15 ปี จำนวน 240 คน และ ขั้นตอนที่ 5 สัมภาษณ์นักเรียนที่เคยเข้าร่วมการสอบ PISA ในโครงการ PISA 2018 จานวน 20 คน ในส่วนที่ 2 ประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 วิเคราะห์สภาพแวดล้อมการศึกษาไทยโดยใช้หลัก SWOT Analysis ขั้นตอนที่ 2 นำผลการศึกษาในส่วนที่ 1 ไปสังเคราะห์ร่วมกับเป้าหมายตัวชี้วัดของแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ปี 2560-2579 และจัดทำกลยุทธ์การพัฒนา PISA ประเทศไทย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบไปด้วย แบบสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ แบบสัมภาษณ์ผู้บริหาร ครู และนักเรียน แบบสอบถามความคิดเห็นและเจตคติของนักเรียน ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ ไอซีที ตารางสังเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา ตารางวิเคราะห์การจัดทำกลยุทธ์การพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติ ค่าความถี่ ร้อยละ และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่าปัจจัยที่ส่งต่อผลการประเมินโครงการ PISA ของประเทศไทย ประกอบด้วย 1) ทัศนคติ แรงจูงใจและวิธีการเรียนของนักเรียน 2) ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ปกครอง 3) การรับนักเรียนเข้าเรียนและการแบ่งกลุ่มนักเรียนในการเรียน 4) อำนาจอิสระในการบริหารโรงเรียน 5) ปัญหาครูและวิธีการพัฒนาครู 6) การบริหารทรัพยากรการเรียน 7) บรรยากาศและพฤติกรรมทางการเรียน 8) ระบบการประกันคุณภาพภายในของโรงเรียน 9) นโยบายการศึกษาและการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จากปัจจัยดังกล่าวนำไปกำหนดกลยุทธ์แนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย ประกอบไปด้วย 1) กลยุทธ์การพัฒนาผู้เรียน 2) กลยุทธ์การบริหาร และ 3) กลยุทธ์การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา