Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชา คอมพิวเตอร์ และความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนที่เรียนด้วยการจัดการเรียนการสอนตามแนววงจรการเรียนรู้กับนักเรียนที่เรียนด้วยวิธีสอนแบบปกติ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2560 โรงเรียนสตรีสิริเกศ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 84 คน ได้มาจากวิธีเลือกแบบสุ่มแบบการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง 1. แผนการจัดการเรียนการสอนตามแนววงจรการเรียนรู้ 2. แผนการจัดการเรียนการสอนแบบปกติ 3. แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ 4. แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหา สถิติที่ใช้ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยใช้วิธีการทดสอบก่อนและหลังเรียนกับกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง ผลการวิจัยสรุปได้ว่า 1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชา คอมพิวเตอร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนด้วยการจัดการเรียนการสอนตามแนววงจรการเรียนรู้สูงกว่ากลุ่มที่เรียนด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 2. ความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หลังเรียนโดยการจัดการเรียนการสอนตามแนววงจรการเรียนรู้สูงกว่ากลุ่มที่เรียนด้วยการจัดการเรียนการสอนปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01