Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณาแบบภาคตัดขวาง เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดแดงขนาดเล็กในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มารับบริการที่คลินิกเบาหวาน แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลของรัฐ 11 แห่งในเขตภาคตะวันออก จำนวน 350 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยหา ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ การวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติคทวิ ผลการวิจัยพบว่า พบว่าผู้เป็นเบาหวาน 236 รายมีภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดแดงขนาดเล็ก คิดเป็นอัตราความชุก ร้อยละ 67.43 (95 %CI: 62.49% - 72.36%) ภาวะแทรกซ้อนหลอดเลือดแดงขนาดเล็กที่พบมากที่สุด ได้แก่ โรคไตจากเบาหวานพบร้อยละ 62 เบาหวานขึ้นจอประสาทตาร้อยละ 16.86 และระบบประสาทรับความรู้สึกที่เท้า ร้อยละ 2.85 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดแดงขนาดเล็กอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) ได้แก่ อายุ ระยะเวลาการเป็นเบาหวาน ระดับน้ำตาลสะสมในเลือด ความดันโลหิตเริ่มผิดปกติ และไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด โดยพบว่า ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน 13.12 เท่า (OR = 13.12) เมื่อเทียบกับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 39 ปี ผู้ที่เป็นเบาหวานมากกว่า 20 ปี มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดแดงขนาดเล็ก 7.47 เท่า (OR = 7.47) เมื่อเทียบกับผู้เป็นเบาหวานน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ปี ผู้ที่มีระดับ HbA1C มากกว่า 8% มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า 0.44 เท่า (OR = 0.44) เมื่อเทียบกับผู้ที่มี HbA1C อยู่ในระดับปกติ ผู้ที่ความดันโลหิตเริ่มผิดปกติ มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดแดงขนาดเล็กน้อยกว่า 0.26 เท่า (OR = 0.26) เมื่อเทียบกับผู้ที่มีความดันปกติ และผู้ที่มีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดแดงขนาดเล็ก 2.15 เท่า (OR = 2.15) เมื่อเทียบกับผู้ที่มีไตรกลีเซอไรด์ปกติ ผลการวิจัยนำเสนอข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญให้กับบุคลากรสุขภาพ ในการพัฒนาการบริการสุขภาพ แก่ผู้ที่ได้รับวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ตั้งแต่ระยะแรก เพื่อป้องกันและชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อน ของหลอดเลือดแดงขนาดเล็ก โดยการคัดกรองเบื้องต้นในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง