Abstract:
ญาติผู้ดูแลเป็นทรัพยากรสำคัญในระบบการดูแลผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตเวชในระยะยาว การวิจัยเชิงพรรณนาแบบความสัมพันธ์เชิงทำนายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายความพร้อมในการดูแลผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตเวชของญาติผู้ดูแล กลุ่มตัวอย่างเป็นญาติผู้ดูแลของผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตเวชที่อาศัยในจังหวัดชลบุรี จำนวน 310 คน ซึ่งได้จากการสุ่มแบบกลุ่มหลายขั้นตอน เก็บข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 ถึง มีนาคม พ.ศ. 2562 โดยใช้แบบสัมภาษณ์ ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐาน การรับรู้ความรุนแรงของโรค พลังสุขภาพจิต ทัศนคติต่อการดูแล การรับรู้ภาระการดูแล มุมมองเชิงบวกจากการดูแล และความพร้อมในการดูแล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความพร้อมในการดูแลผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตเวชภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับปานกลาง โดยตัวแปรทัศนคติต่อการดูแล ปัญหาสุขภาพ อายุของญาติผู้ดูแล มุมมองเชิงบวกจากการดูแล และการได้รับการอบรมสามารถร่วมกันอธิบายความพร้อมในการดูแลผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตเวชได้ร้อยละ 40.2 (R2 = .402, F = 40.861, p < .001) ดังนั้น พยาบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องควรพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมความพร้อมของญาติผู้ดูแลในการดูแลผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตเวชโดยการเพิ่มทัศนคติที่ดีต่อการดูแล ส่งเสริมมุมมองเชิงบวก และอบรมก่อนการดูแล โดยเฉพาะในญาติผู้ดูแลที่มีอายุมากและมีปัญหาสุขภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพการดูแลและผลลัพธ์ที่ดีของผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตเวชและญาติผู้ดูแล