Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลของการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ อย่างน้อย 6 เดือน จำนวน 334 คน ทุกคนได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ตามโครงการการเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ระดับชาติ ในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรี เลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยการสุ่มแบบแช่งชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลคือแบบสอบถามเก็บรวบรวมข้อมูลโดย พยาบาลประจำคลีนิก และอาสาสมัครผู้ติดเชื้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่สถิติเชิงบรรยาย สถิติ Mc Nemar Test และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ถดถอยแบบพหุคูณ
ผลการศึกษาพบว่า 1.ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ มีระดับภูมิคุ้มกัน CD4 เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ย 110.09 เซลล์ หลังจากที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ 6 เดือน 2. ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง 3. คะแนนแบบวัดสมรรถนะของผู้ป่วยตามเกณฑ์ ของ Karnofsky Score ส่วนใหญ่อยู่ระดับ 100 ซึ่งเป็นระดับคะแนนสูงสุด
ผลการทดสอบประสิทธิผลการรักษาด้วยยาต้านไวรัสจำแนกตามปัจจัยดังนี้
1.ด้านสัดส่วนอาการเจ็บป่วยด้วยการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสของกลุ่มตัวอย่างผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ช่วงเวลา ณ ปัจจุบัน สัดส่วนการไม่มีการติดเชื้อโรคฉวยโอกาส สูงกว่าก่อนการกินยา คือมีมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ร้อยละ 100 (เกณฑ์ ร้อยละ 80)
2. สัดส่วนผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ทั้ง สอง กลุ่มได้แก่ หนึ่ง กลุ่มที่มีระดับค่า CD4 < 100 เซลล์ /ลบ.มม. ช่วงก่อนการกินยาต้านไวรัส มีระดับค่าเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 100 เซลล์เป็นกลุ่ม CD ≥ 100 เซลล์ / ลบ.มม. อยู่ในระดับร้อยละ 80 สอง กลุ่มที่มีระดับค่าCD4 ≥ 100 เซลล์ / ลบ.มม. ช่วงก่อนการกินยาต้านไวรัส มีระดับค่าเพิ่มมากกว่า 100 เซลล์ เป็นกลุ่ม CD4 ≥ 100 เซลล์ / ลบ.มม. อยู่ในระดับร้อยละ 80 ตามเกณฑ์ที่กำหนด (เกณฑ์ ร้อยละ 80)
3.สัดส่วนการมีคุณภาพชีวิตระดับปานกลางขึ้นไปต่อการมีคุณภาพชีวิตไม่ดี เป็นร้อยละ 100 ต่อ 0 เป็นระดับที่ได้มากกว่าสัดส่วนที่กำหนด (เกณฑ์ ร้อยละ80)
4.สัดส่วนระดับค่าคะแนนสมรรถนะทางกาย KNS ≥ 80 ร้อยละ 90 ต่อ KNS < 80 ร้อยละ 10 เป็นระดับที่ได้มากกว่าสัดส่วนที่กำหนด (เกณฑ์ ร้อยละ 80)
ผลการหาสัมประสิทธิสหสัมพันธ์พหุคูณ ให้ผลดังต่อไปนี้
1.ปัจจัยด้านการออกกำลังกาย (β =.14, p < .001) การไม่ดื่มสุรา (β = .44, p< .001) และการรับประทานอาหารตรงเวลา (β= .15, p < .001) สามารถร่วมกันทำนาย คุณภาพชีวิตโดยรวมได้ร้อยละ 13 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p < .001
2.ปัจจัยด้านความพึงพอใจด้านการให้ความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ (β = 19.17, p < .001)การนอนหลับเพียงพอ (β = 4.41, p < .001)การติดเชื้อฉวยโอกาส ณ ปัจจุบัน (β = 6.27, p < .001) และความพึงพอใจด้านการตอบสนองต่อ ผู้ใช้บริการ (β = 13.07, p < .001) สามารถร่วมกันทำนายคะแนนแบบวัดสมรรถนะ (KNS) ได้ร้อยละ 13 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p < .001
3.ปัจจัยด้านการติดเชื้อฉวยโอกาส ณปัจจุบัน (β = 69.89, p < .001) การนอนหลับไม่เพียงพอ (β = -41.62, p < .001) และการไม่ได้รับการปรึกษา (β = -103.99, p < .001) สามารถร่วมกันทำนาย ด้านระดับค่า CD4 หลังการกินยา 6 เดือน โดยเฉลี่ย ได้ร้อยละ 8 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ p < .001
ผลการวิจัยครั้งนี้พบว่าประสิทธิผลของการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ช่วยให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ มีระดับค่าภูมิคุ้มกันร่างกายเพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตและสมรรถนะร่างกาย ที่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ