Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายด้านแรงงานของภาครัฐ และวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการนำนโยบายภาครัฐด้านความมั่นคงของแรงงานไทยในภาคอุตสาหกรรมไปปฏิบัติให้ประสบผลสำเร็จ พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการพัฒนารูปแบบนโยบายด้านความมั่นคงของแรงงานไทยในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งรูปแบบในการวิจัย ครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ การได้มาซึ่งข้อมูลที่สำคัญ คือ การวิจัยเอกสาร และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก โดยมีผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่ หัวหน้าหน่วยงานราชการด้านแรงงานหรือนักวิชาการแรงงาน นักบริหาร สถานประกอบการหรือตัวแทนผู้นำด้านแรงงาน ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 12 ราย ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายด้านแรงงานของภาครัฐ มาจากความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การเรียกร้องของภาคแรงงาน ภาคนายจ้างหรือผู้ประกอบการ และความต้องการขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ปัจจัยในการสร้างความมั่นคงของแรงงานไทยในภาคอุตสาหกรรมประกอบไปด้วย 8 ปัจจัย ได้แก่ กฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานภาครัฐ นายจ้าง/ผู้ประกอบการ เทคโนโลยี ลูกจ้าง การเมือง และการมีส่วนร่วม ปัจจัยที่ส่งผลต่อการนำนโยบายภาครัฐด้านความมั่นคงของแรงงานไทยในภาคอุตสาหกรรมไปปฏิบัติให้ประสบผลสำเร็จนั้นประกอบไปด้วย 9 ปัจจัย ได้แก่ นโยบายด้านแรงงาน กฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานของรัฐ การเมือง เทคโนโลยี การบังคับใช้กฎหมาย นายจ้าง/ ผู้ประกอบการ และการมีส่วนร่วมจากการวิจัย ได้เสนอแนวทางในการพัฒนารูปแบบนโยบายด้านความมั่นคงของแรงงานไทยในภาค อุตสาหกรรม ดังนี้ ปรับปรุงกกฎหมายให้มีความทันสมัย เพิ่มการบังคับใช้และบทลงโทษ จัดสรรอัตรากำลังเจ้าหน้าที่รัฐให้เพียงพอ เพิ่มความรู้และทักษะของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคุมนายจ้าง/ ผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนโดยให้มีการปรับลดหรือเพิกถอนสิทธิหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กำหนดให้ผู้ประกอบการสนับสนุนแรงงานให้เข้ารับการพัฒนาความรู้และทดสอบทักษะตามมาตรฐานการพัฒนาฝีมือแรงงาน นำระบบเทคโนโลยี สารสนเทศมาใช้อำนวยความสะดวกแก่นายจ้าง/ ลูกจ้างในการตรวจสอบสิทธิและการจ้างงาน ส่งเสริมให้ลูกจ้าง พัฒนาความรู้และทักษะให้ตรงกับความต้องการขององค์กรเพื่อรองรับเทคโนโลยี 4.0 ภาคการเมืองควรมีการแก้ไขขั้นตอนการพิจารณากฎหมายให้รวดเร็วและทันสมัย โดยพิจารณาถึงประโยชน์ต่อแรงงาน และการมีส่วนร่วมของภาคแรงงานในการแก้ไขและกำหนดนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของแรงงานอย่างแท้จริง