Abstract:
ความเข้าใจเกี่ยวกับความเครียดที่มีผลต่อการควบคุมความดันโลหิตสูงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความเครียดของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและศึกษาความแตกต่างของระดับความเครียดตามปัจจัยที่มีผลต่อความเครียดในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่ เพศ ประวัติโรคความดันโลหิตสูงในครอบครัว การควบคุมความดันโลหิต ระยะเวลาที่เป็นโรคความดันโลหิต กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยเชิงพรรณาครั้งนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 120 คน ที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย จากผู้ที่มารับบริการที่โรงพยาบาลแห่งชาติจิกมี ดอจิ วังชุก ประเทศภูฏาน รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปและแบบสอบถามการรับรู้เกี่ยวกับความเครียด วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติพรรณาและการทดสอบค่าที (t-test) ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.8 มีความเครียดระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย =20.2, SD = 5.6) กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.5 มีความเครียดอยู่ในระดับสูง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 11.7 มีความเครียดระดับต่ำผลการทดสอบความแตกต่างของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเครียด พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความเครียดแตกต่างกันในคนที่มีและไม่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง (t118 = 2.18, p < .05) ผู้ที่ควบคุมความดันโลหิตได้และไม่ได้ (t118 = -2.42, p < .05) ระยะเวลาที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมากและน้อยกว่า 60 เดือน (t118 = -4.21, p < .001) แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างเพศหญิงและเพศชาย (t118 = 1.85, p > .05) ข้อเสนอแนะจากการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ การพัฒนา วิธีการจัดการความเครียดสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในภูฏานโดยคำนึงถึงระยะเวลาที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ประวัติโรคความดันโลหิตสูงในครอบครัวและ ความสามารถในการควบคุมความดันโลหิต