Abstract:
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมกับบริบทของตนเองได้ ทำให้มีความไม่ต่อเนื่องในการรักษา การศึกษาครั้งนี้เป็นแบบเชิงพรรณนาหาความสัมพันธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากอายุรแพทย์โรคไตว่าเป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายและจำเป็นต้องรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต จำนวน 82 ราย คัดเลือกโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินความหวังต่อการบำบัดทดแทนไต แบบประเมินความชอบต่อวิธีบำบัดทดแทนไต แบบประเมินความสามารถในการเข้ารับบริการบำบัดทดแทนไต แบบประเมินทัศนคติของผู้ป่วยต่อการบำบัดทดแทนไต และแบบประเมินการตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไต วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายมีการตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตอยู่ระดับสูง (ค่าเฉลี่ย = 40.59, SD = 2.02) และพบว่า ความหวังต่อการบำบัดทดแทนไต ความชอบต่อวิธีบำบัดทดแทนไตและความสามารถในการเข้ารับบริการบำบัดทดแทนไตมีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .32, r = .29, r = .34, p < .01) ส่วนทัศนคติของผู้ป่วยต่อการบำบัดทดแทนไตไม่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไต (r = -.01, p > .05) ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายมีความสามารถในการตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตด้วยตนเอง พยาบาลวิชาชีพและบุคลากรด้านสุขภาพควรมีการสนับสนุนความรู้เกี่ยวกับการเจ็บป่วยและวิธีบำบัดทดแทนไตเพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจ มีทัศนคติที่ดี และมีความชอบต่อวิธีบำบัดทดแทนไตที่ตนเองเลือก และสุดท้าย ต้องส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีความหวังในการดำเนินชีวิตแม้ว่าต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีบำบัดทดแทนไต