Abstract:
การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการพัฒนาความเชื่อด้านสุขภาพของผู้ปกครองต่อการรับรู้และพฤติกรรมการป้องกันโรคมือ เท้า ปากในเด็กวัยก่อนเรียนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ปกครองเด็กวัยก่อนเรียนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่มีอายุ 21-59 ปี จำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน และกลุ่มควบคุม 30 คน ซึ่งได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือการวิจัย ประกอบด้วย เครื่องมือการทดลอง ได้แก่ โปรแกรมความเชื่อด้านสุขภาพ วีดิทัศน์ คู่มือปฏิบัติพฤติกรรมการป้องกันโรค และเครื่องมือการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา Chi-Square, Fisher’s exact test และ Independent t-test ผลการศึกษาพบว่า หลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยการรับรู้โอกาสเสี่ยง และการรับรู้ความรุนแรงของโรคระดับมาก (M = 4.36, SD = 0.46; M = 4.50, SD = 0.38 ตามลำดับ) การรับรู้ประโยชน์ ระดับมากที่สุด (M = 4.63, SD = 0.31) การรับรู้อุปสรรคอยู่ในระดับน้อยที่สุด (M = 1.42, SD = 1.34) และมีการปฏิบัติพฤติกรรมป้องกันโรคเป็นประจำ (M = 2.66, SD = 0.21) กลุ่มทดลอง มีการเปลี่ยนแปลงค่าเฉลี่ยการรับรู้โอกาสเสี่ยง การรับรู้ความรุนแรงของโรค การรับรู้ประโยชน์ของการปฏิบัติพฤติกรรมการป้องกันโรค และพฤติกรรมการป้องกันโรค เพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 2.370, p < .01, t = 2.158, p < .05, t = 1.935, p < .05 และ t = 2.160, p < .05 ตามลำดับ) และมีการเปลี่ยนแปลงการรับรู้อุปสรรค ลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = -3.083, p < .02) ผลการศึกษานี้พยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน บุคลากรสุขภาพ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือครูผู้ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นำไปใช้เป็นแนวทางในการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ในเด็กวัยก่อนเรียนผ่านการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง