Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการรับประทานอาหารและปัจจัยทำนายพฤติกรรมการรับประทานอาหารของหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มตัวอย่างคือ หญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม และฝากครรภ์ ณ ศูนย์ประกันสุขภาพโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จำนวน 210 ราย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามพฤติกรรมการรับประทานอาหาร แบบสอบถามการรับรู้ประโยชน์ในการรับประทานอาหาร แบบสอบถามการรับรู้อุปสรรคในการรับประทานอาหาร แบบสอบถามการรับรู้ความสามารถของตนเองในการรับประทานอาหาร แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม และแบบสอบถามแหล่งอาหารสุขภาพในโรงงานอุตสาหกรรม
ได้ค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาของทุกแบบสอบถามเท่ากับ 1.00 และความเชื่อมั่นโดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค เท่ากับ .82, .84, .85, .90, .86 และ .81 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารเฉลี่ยเท่ากับ 37.33 (SD = 4.46) โดยการรับรู้ ความสามารถของตนเองในการรับประทานอาหาร (β = .286, p < .001) การรับรู้อุปสรรคในการรับประทานอาหาร (β = -.249, p < .001) แหล่งอาหารสุขภาพในโรงงานอุตสาหกรรม
(β = .142, p < .05) และการรับรู้ประโยชน์ในการรับประทานอาหาร (β = .142, p < .05) สามารถร่วมอธิบายความแปรปรวนของพฤติกรรม การรับประทานอาหารของหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้ร้อยละ 22.3 ผลการศึกษานี้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาแนวทางการส่งเสริมพฤติกรรมการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมในหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม