Abstract:
การวิจัยเชิงทำนายครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเครียดของสตรีที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ กลุ่มตัวอย่าง คือ สตรีที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่รับบริการตรวจรักษา โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จำนวน 176 คน คัดเลือกโดยการสุ่มแบบง่าย เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคม - กันยายน พ.ศ. 2561 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามการรับรู้ภาวะเสี่ยงของภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แบบสอบถามการรับรู้สมรรถนะแห่งตน แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม และแบบวัดการรับรู้ความเครียด ได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค เท่ากับ .89, .88, .92 และ .72 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาและสถิติถดถอยพหุคูณแบบถอยหลัง
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นครรภ์หลัง (ร้อยละ 73.30) มีอายุครรภ์อยู่ในช่วงไตรมาสที่ 3 (ร้อยละ 77.84) มีค่าดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์อยู่ในกลุ่มน้ำหนักเกินและอ้วน (ร้อยละ 63.64) เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ชนิด เอวัน (ร้อยละ 74.43) และมีคะแนนความเครียดเฉลี่ยในระดับปานกลาง (mean = 17.70, SD = 3.79) จากการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ พบว่า การรับรู้สมรรถนะแห่งตนและการสนับสนุนทางสังคมเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลทางลบต่อความเครียดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (β = -.35, p < .001 และ β = -.15, p < .05 ตามลำดับ) และสามารถร่วมทำนายความเครียดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ร้อยละ 19.1 (R2 = .191, F(2, 173) = 20.46, p < .001)
ผลการศึกษาครั้งนี้เสนอแนะ พยาบาลและบุคลากรสุขภาพควรจัดกิจกรรมส่งเสริมให้สตรีตั้งครรภ์มีความมั่นใจในความสามารถของตนเองและสนับสนุนครอบครัวให้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของสตรีที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้สตรีตั้งครรภ์สามารถปรับตัวกับการเจ็บป่วยและมีภาวะเครียดลดลง