Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการจัดสรรงบประมาณผู้สูงอายุที่เหมาะสมของประเทศไทย โดยใช้วิธีการวิจัยแบบผสม (Mixed Methodology) แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนประกอบด้วย (1) การวิจัยเอกสาร (Document Research) โดยทำการวิเคราะห์เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ การจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์การจัดสรรรายจ่ายประจำปีที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ (2) การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยการสัมภาษณ์ เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องการจัดสรรงบประมาณผู้สูงอายุ จำนวน 23 คน (3) การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) โดยทำการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ และ (4) การยืนยันผลการวิจัย โดยการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูล 6 คน ได้แก่ นักวิเคราะห์งบประมาณ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบงบประมาณและการจัดการ นักส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และนักวิชาการสถิติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก 2 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ และค่าร้อยละ สถิติเชิงอ้างอิง คือ การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression) ผลการวิจัยพบว่า ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมและสร้างการเติบโตจากภายใน จัดทำแผนบูรณาการสร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ในการจัดสรรงบประมาณผู้สูงอายุ ประกอบด้วย ด้านความมั่นคงเศรษฐกิจและสังคม ด้านการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ด้านการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของสังคมผู้สูงวัย หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับผู้สูงอายุ ประกอบด้วย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานประกันสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำนวนเงินงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อใช้กับผู้สูงอายุในแต่ละปีนั้นเพิ่มขึ้นหรือลดลงมีผลมาจากจำนวนผู้สูงอายุ อัตราเงินเฟ้อ ปัจจัยที่ใช้ในการประมาณการงบ ประมาณผู้สูงอายุ ได้แก่ เงินภาษี จำนวนผู้สูงอายุ ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ เงินกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เงินประกันชีวิตแบบบำนาญ อัตราเงินเฟ้อ รายได้ครัวเรือน ความเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราการเกิด อัตราการตาย คนที่อยู่ในวัยทำงาน และความยืนยาวของชีวิต ตามลำดับ ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณผู้สูงอายุ คือ นโยบายของภาครัฐ ด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ด้านสังคม ด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้านสภาพแวดล้อม และด้านกฎหมาย ปัจจัยที่สามารถทำนายการจัดสรรงบประมาณ ได้แก่ รายได้จากการจัดเก็บภาษีของรัฐ จำนวนผู้สูงอายุ มูลค่า GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย) รายได้ครัวเรือน และอัตราการตาย (จำนวนราย/ ปี) และค่าเฉลี่ยงบประมาณผู้สูงอายุของประเทศไทยต่อคนต่อเดือน และมีค่าเฉลี่ยความคลาดเคลื่อนสมบูรณ์เท่ากับ 4.75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีความเหมาะสมในการคำนวณหางบประมาณผู้สูงอายุของประเทศไทย