Abstract:
ทักษะการคิดวิเคราะห์ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของทักษะชีวิต ผู้ที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์จะช่วยให้รู้ข้อเท็จจริง เกิดความสามารถในการพิจารณาสาระสำคัญต่างๆ และรู้จักหาเหตุผลมาประกอบการตัดสินใจ การพัฒนาทักษะด้านการคิดวิเคราะห์จึงมีความสำคัญโดยเฉพาะกับเด็กไทยในยุคปัจจุบัน หรือที่เรียกว่าเด็กยุค Gen Z (Generation Z) เพราะทักษะการคิดวิเคราะห์จะช่วยรู้จักพิจารณาสาระสำคัญต่างๆ นำไปสู่การตัดสินใจ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้โดยเฉพาะโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารผ่านอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ต่างๆ ที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นกว่าสมัยก่อน อย่างไรก็ตามเด็กไทยจำนวนมากยังขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ เมื่อทำการเปรียบเทียบผลคะแนนประเมินด้านการอ่านเชิงวิเคราะห์ ตัวอย่างเช่น การประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลหรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ซึ่งพบว่าด้านการอ่านมีค่าเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะลดลงไปอีก ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นผลมาจากการจัดการเรียนการสอนของไทยซึ่งไม่ตอบรับกับกระบวนการเรียนรู้ของเด็กในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นเด็ก Gen Z (Generation Z) หรือผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ.1995 หรือ พ.ศ.2538 เป็นต้นมา ซึ่งลักษณะการเรียนรู้ของเด็ก Gen Z จะชอบเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีเนื่องจากเติบโตมากับโลกดิจิทัล ชอบการเรียนรู้ทางสายตา การลงมือปฏิบัติจริง และการเรียนรู้ผ่านการร่วมมือกัน ผู้สอนจึงควรนำกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning มาจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ด้วยการสอนอ่านเชิงวิเคราะห์แทนการสอนแบบเก่าที่เน้นไปที่การบรรยาย ซึ่งกระบวนการสอนแบบ Active Learning จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ตรง เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ สามารถสร้างองค์ความรู้ พัฒนาทักษะการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มพูนทักษะการคิดวิเคราะห์ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงตนในยุคดิจิทัล