Abstract:
การศึกษาการพัฒนาและปรับปรุงระบบบ่อเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ Penaeus monodon ระบบปิด โดยมีการใช้สาหร่ายช่อพริกไทย Caulerpa sp. และวัสดุเพิ่มพื้นที่ผิวสำหรับแบคทีเรียเกาะเพื่อการปรับปรุงคุณภาพน้ำในระหว่างการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ โดยทำการทดลองทั้งในห้องปฏิบัติการและบ่อดินกลางแจ้ง ทำการเก็บข้อมูลคุณภาพน้ำ น้ำหนักสาหร่าย อัตราการเจริญเติบโตและอัตรา
การรอดของกุ้ง อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนัก และผลผลิตรวม
ผลการศึกษาพบว่าบ่อทดลองเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ที่มีระบบหมุนเวียนน้ำแบบปิดโดยใช้สาหร่ายช่อพริกไทยและตาข่ายเพิ่มพื้นที่ผิวสามารถบำบัดคุณภาพน้ำและเพิ่มผลผลิตรวมของกุ้งกุลาดำ บ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำที่มีระบบบำบัดคุณภาพน้ำโดยใช้ตาข่ายเพิ่มพื้นที่ผิว มีประสิทธิภาพในการบำบัดสารประกอบไนโตรเจนรวม 51 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่บ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำที่มีระบบบำบัดคุณภาพน้ำโดยใช้ตาข่ายเพิ่มพื้นที่ผิวร่วมกับสาหร่ายช่อพริกไทย มีประสิทธิภาพในการบำบัดสารประกอบไนโตรเจน รวม 34 เปอร์เซ็นต์ และช่วยทำให้ผลผลิตรวมและน้ำหนักเฉลี่ยของกุ้งกุลาดำที่ 120 วัน เพิ่มขึ้น 52 และ 67 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการใช้สาหร่ายช่อพริกไทยและตาข่ายเพิ่มพื้นที่ผิวสามารถช่วยในการบำบัดคุณภาพน้ำจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบพัฒนาได้ แต่การพัฒนาเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในภาคสนามจริงต้องเลือกใช้ชนิดของสาหร่ายทะเลในการบำบัดคุณภาพให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม