Abstract:
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และผู้ป่วยในกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มนี้มักมีโรคเรื้อรังหลายโรคร่วมกัน ซึ่งพบว่ามีการใช้ยาในการรักษาหลายชนิด จำนวนยาที่ใช้ที่มากขึ้นสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือผลไม่พึงประสงค์จากยา ปฏิกิริยาระหว่างยา รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงขึ้น จากปัญหาดังกล่าวทางผู้วิจัยจึงมีจุดประสงค์ในการพัฒนาเครื่องมือในการศึกษาความสัมพันธ์ของพื้นที่และพฤติกรรมการใช้ยาในผู้สูงอายุเพื่อช่วยในการเลือกใช้ยาให้เหมาะสมในผู้สูงอายุ เข้าใจวิธีการใช้ยาในผู้สูงอายุ ทราบระบาดวิทยาของผู้สูงอายุเขตพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกเพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ของการใช้ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ระบบเทคโนโลยี (GIS) ให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยาและลดผลไม่พึงประสงค์จากยา สำหรับภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีจำนวนผู้สูงอายุพักอาศัยเป็นจำนวนมากโดยทางผู้วิจัยได้ใช้จังหวัดชลบุรีเป็นโมเดลในการสำรวจข้อมูลจาก 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลแสนสุข ตำบลอ่างศิลา และตำบลเหมือง เก็บข้อมูลจากผู้ป่วยสูงอายุจำนวน 150 คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและหรือโรคเบาหวาน พบว่าจากการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูล 4 ประเภท (1) ข้อมูลส่วนตัวของอาสาสมัคร ประกอบด้วย เพศ อายุ จำนวนพี่น้อง สถานภาพสมรส การศึกษา อาชีพ ศาสนา สิทธิการรักษา ที่อยู่และพิกัด GPS ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกันในเชิงพื้นที่ทั้งสามตำบล ยกเว้นแต่สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา อาชีพ และ สิทธิการรักษาพยาบาล กับพื้นที่สองตำบลคือตำบลแสนสุข และตำบลอ่างศิลา (p < 0.05) สำหรับ (2) ข้อมูลทั่วไปสำหรับการคัดกรองอาสาสมัคร ประกอบด้วย 2 ประเภทการตรวจร่างกาย (2.1) การตรวจร่างกายทั่วไป ได้แก่ ส่วนสูง รอบเอว ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกันในเชิงพื้นที่ทั้งสามตำบล ยกเว้นน้ำหนักตัวเฉลี่ยมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) (2.2) การตรวจวัดค่าความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด (Postprandial Blood Sugar) มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) เมื่อเปรียบเทียบกันในเชิงพื้นที่ทั้งสามตำบล และ (3) ข้อมูลสุขภาพของอาสาสมัคร ได้แก่ โรคประจำตัว การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มชูกำลัง ความชอบรับประทานอาหารรสจืด หวาน เปรี้ยว เค็ม เผ็ด และมัน การดูแลรักษาตัวเองเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกันในเชิงพื้นที่ทั้งสามตำบล ยกเว้นประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคของบิดา มารดา และพี่น้องสายตรง การดื่มชา กาแฟ การออกกำลังกาย มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) (4) ข้อมูลการใช้ยาของอาสาสมัคร เพื่อเก็บข้อมูลของชื่อยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขนาดความแรงของยา ข้อบ่งใช้ วิธีรับประทาน/ ใช้ยา วันที่เริ่มใช้ยา วันที่หยุดใช้ยา และประวัติการแพ้ยา/ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกันในเชิงพื้นที่ทั้งสามตำบล ยกเว้น ข้อมูลการเป็นโรคไม่ติดต่อชนิดเรื้อรังที่เกิดในผู้สูงอายุ การใช้ยาเพื่อควบคุมโรคความดันโลหิตสูง และหรือการใช้ยาเพื่อควบคุมโรคเบาหวาน โดยเฉพาะการได้รับยาแบบ Fixed combination drug มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) การสำรวจข้อมูลทุกประเภทร่วมกับเก็บข้อมูลในการใช้ยาของผู้สูงอายุ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปัญหาการใช้ยา การกระจายตัวของยาที่ใช้ควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาหลักของผู้สูงอายุในประเทศไทยการระบาดของโรคในพื้นที่สำรวจเพื่อดูความชุกของโรค นำมาสร้างฐานข้อมูลด้านสุขภาพของผู้สูงอายุในเขตพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกของไทย ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้มาเพื่อชี้ให้เห็นเขตพื้นที่ใดที่มีความเร่งด่วนที่ต้องเข้าไปส่งเสริมสุขภาพและปรับเปลี่ยนยาและพฤติกรรมของผู้ป่วยสูงอายุให้สามารถควบคุมอาการของโรคได้ดีขึ้น