Abstract:
โรคนิ่วในไตเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญในหลายประเทศทั่วโลก เป็นซ้ำได้ เกิดจากการตกผลึกของแคลเซียมกับออกซาเลตไอออนบริเวณท่อไตส่วนปลาย เกิดเป็นผลึกแคลเซียมออกซาเลต (CaOx) ผลึกยึดจับกับเซลล์เยื่อบุท่อไตจนมีขนาดใหญ่กั้นทางเดินปัสสาวะทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะติดขัดและแสดงอาการ การยึดจับของผลึกกับเซลล์เยื่อบุท่อไตเป็นขั้นตอนวิกฤต ผลึกถูกนำเข้าสู่เซลล์มีการสร้างอนุมูลอิสระจำนวนมาก เซลล์เยื่อบุท่อไตเปลี่ยนแปลง เสียหาย ตาย และเหนี่ยวนำเม็ดเลือดขาวมาช่วยกำจัดทำลาย ทำให้พยาธิสภาพรุนแรงเกิดการอักเสบขึ้น ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญมีหลายชนิดโดยเมล็ดข้าวที่มีสี เช่น ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวสังข์หยด มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าข้าวขาว ได้แก่ แอนโทไซยานิน สารประกอบฟีนอล เป็นต้น จึงน่าสนใจว่าสารสกัดจากข้าวเหนียวดำและข้าวเหนียวสังข์หยดอาจจะสามารถยับยั้งการเกิดนิ่วในไตและลดการอักเสบได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษามาก่อน การศึกษาในครั้งนี้นำข้าวเหนียวดำและข้าวเหนียวสังข์หยดสกัดด้วยเอทานอล นำไปทดสอบการยับยั้งการยึดจับระหว่างผลึกกับเซลล์ท่อไต การกำจัด Hydrogen peroxide และปริมาณเซลล์ตาย ศึกษาการยับยั้งการอักเสบของเซลล์แมคโครฟาจในการสร้าง TNF-α, TNFR1 และการสร้าง pro inflammatory cytokine MCP-1 ของเซลล์ไตด้วยวิธี Western blotting
ผลการศึกษาพบว่าได้สารสกัดข้าวเหนียวดำ ร้อยละ 0.379 สารสกัดข้าวเหนียวสังข์หยด ร้อยละ 0.589 โดยสารสกัดจากข้าวเหนียวดำมีปริมาณแอนโทไซยานินและสารประกอบฟีนอลรวมสูงกว่าสารสกัดข้าวเหนียวสังข์หยด ความสามารถในการยับยั้งการเกาะจับของผลึก CaOx กับเซลล์ท่อไตของข้าวทั้งสองชนิดเป็นแบบ dose - dependent manner ความสามารถในการกำจัด hydrogen peroxide ที่เซลล์ผลิตออกมาพบว่าสารสกัดข้าวเหนียวดำสามารถกำจัดได้ดีกว่าสารสกัดข้าวเหนียวสังข์หยด ประมาณ 20 เท่า โดยสารสกัดข้าวเหนียวดำมีค่า IC50 0.106 mg/mL ในขณะทีข้าวเหนียวสังข์หยดมีค่า IC50 20.661 mg/mL ไม่พบการแสดงออกของ TNF-α ในขณะที่พบการแสดงออกของ TNFR1 ไม่แตกต่างกับกลุ่มควบคุม ผลการแสดงออกของ MCP-1 ในเซลล์ไตลดลงอย่างชัดเจน ในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากข้าวเหนียวดำและข้าวเหนียวสังข์หยด
การศึกษาในครั้งนี้จะเห็นได้ว่าสารสกัดจากข้าวเหนียวดามีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าข้าวเหนียวสังข์หยดและมีความสามารถในการกำจัดอนุมูลอิสระสูงกว่า อย่างไรก็ตามสารสกัดจากข้าวเหนียวดำและข้าวเหนียวสังข์หยดสามารถลดการเกาะจับของผลึก และลดการอักเสบได้ไม่แตกต่างกัน การศึกษาครั้งนี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อศึกษาเพิ่มเติมและอาจนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางการแพทย์เพื่อเป็นทางเลือกในการนำไปใช้ในการป้องกันการเกิดโรคนิ่วในไต ต่อไปในอนาคต