Abstract:
การศึกษาปริมาณความต้องการน้ำของทุเรียนพันธุ์หมอนทอง อายุ 7 ปี ในแปลงปลูกของ
เกษตรกรอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินปริมาณการใช้น้ำของต้นทุเรียน
พันธุ์หมอนทอง สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการจัดการน้ำในสวนทุเรียนอย่างมีประสิทธิภาพตามความ
ต้องการของทุเรียน โดยการติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศในแปลงทดลอง บันทึกปริมาณการใช้น้ำ
ของพืชอ้างอิง (reference evapotranspiration, ETo) และค่าสัมประสิทธิ์การใช้น้ำ ( Crop
coefficient, Kc) ของทุเรียน โดยเดือนเมษายน มีค่าเท่ากับ 0.75 แล้วนำมาคำนวณตามสมการของ
Penman-Monteith (Allen et al., 1998). และการประเมินการใช้น้ำของทุเรียนจากข้อมูลการ
เคลื่อนที่ของน้ำในลำต้นทุเรียน (sap flow) โดยการติดตั้งหัวตรวจวัดการเคลื่อนที่ของน้ำในลำต้น
ทุเรียน (sap flow) ที่ระดับความสูงจากพื้นดิน 50 เซนติเมตร ทำการเก็บข้อมูลทุก 30 นาที ผลการ
ทดลองพบว่า ปริมาณการใช้น้ำของต้นทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่คำนวณจากค่า ETo มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ
30-270 ลิตรต่อวัน ส่วนปริมาณการใช้น้ำที่ประเมินจาก sap flow มีค่าเฉลี่ย 100-270 ลิตรต่อวัน
โดยปริมาณการใช้น้ำของทุเรียนมีความสัมพันธ์กับค่าปริมาณไอน้ำที่อากาศสามารถรับเพิ่มได้ (vapor
pressure deficit, VPD) และความชื้นในดิน แสดงให้เห็นว่าปริมาณการใช้น้ำของต้นทุเรียนมีค่ามาก
ในช่วงที่อากาศมีค่า VPD ต่ำ และมีความชื้นในดินสูง จากการศึกษารูปแบบวิธีการให้น้ำที่เหมาะสม
และมีประสิทธิภาพในสวนทุเรียน พบว่าระบบการให้แบบสปริงเกอร์มีความยาวของกิ่งที่เกิดใหม่
เส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่งที่เกิดใหม่ ความยาวของใบ ความกว้างของใบ และคลอโรฟิลล์ในใบทุเรียน
มากที่สุด แต่ไม่มีค่าแตกต่างทางสถิติกับระบบการให้น้ำแบบฉีดฝอย จะเห็นได้ว่าสามารถใช้ระบบการ
ให้น้าแบบฉีดฝอยแทนระบบการให้น้ำแบบสปริงเกอร์ ทำให้ประหยัดปริมาณน้ำที่ให้กับต้นทุเรียนได้