Abstract:
เชื้อรา Phytophthora palmivora เป็นเชื้อสาเหตุของการเกิดโรคกับทุเรียน
เป็นเชื้อราที่อยู่ในดินและพบแพร่กระจายในน้ำและอากาศ สามารถเข้าทำลาย
ต้นทุเรียนได้ทุกระยะการเจริญเติบโต งานวิจัยนี้แบ่งการทดลองออกเป็น 2
การทดลอง คือ การทดลองที่ 1 พัฒนาระบบควบคุมสภาพอากาศในโรงเรือนอัตโนมัติ เพื่อให้สามารถควบอุณหภูมิและความชื้นภายในโรงเรือนให้อยู่ในสภาวะที่กำหนดได้ โดยทำการออกแบบการทำความความเย็นด้วยวิธีการระเหยของน้ำ ร่วมกับการสเปรย์ละอองน้ำแบบอัตโนมัติ ออกแบบระบบควบคุมฟัซซี่
โดยการโปรแกรมลงบอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์ทำงานร่วมกับอุปกรณ์เซ็นเซอร์อุณหภูมิ จากผลการทดลองพบว่า การควบคุมสภาพอากาศภายในโรงเรือนด้วยระบบควบคุมฟัซซี่สามารถควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ได้ค่อนข้างคงที่มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่การควบคุมอุณหภูมิภายโรงเรือนยังมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพอากาศภายนอกโรงเรือน มีค่าเฉลี่ย 25-35 องศาเซลเซียส
การทดลองที่ 2 ทำการปลูกเชื้อรา P. palmivora ลงบนต้นกล้าทุเรียน
ที่อยู่ในระยะเพสลาด นำใบเพสลาดที่แสดงอาการใบไหม้มาทำการแยกเชื้อด้วยวิธี Tissue transplanting method หลังจากนั้นนำใบจากต้นกล้าทุเรียนที่อยู่ในระยะเพสลาดมาทำการปลูกเชื้อรา P. palmivora ลงบนใบทุเรียน แล้วนำไปวางในกล่องที่มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในห้องปฏิบัติการ ตรวจดูอาการเกิดโรคใบไหม้ ผลการทดลองพบว่า ต้นทุเรียนที่อยู่ในโรงเรือนทั้งที่ควบคุมและไม่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือนทุกกรรมวิธี ไม่พบใบที่แสดงอาการใบไหม้
และ Sporangium ของเชื้อ แต่การทดลองในห้องปฏิบัติการใบทุเรียนจะแสดงอาการของโรคใบไหม้ เมื่ออุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80
และ 90 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่ออุณหภูมิสูงถึง 30 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ใบทุเรียนมีอาการใบแห้ง แต่ไม่แสดงอาการเกิดโรค ดังนั้นอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือนเพาะชาต้นกล้าทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา P. palmivora อันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคใบไหม้ในต้นกล้าทุเรียน คือ อุณหภูมิสูงกว่า30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์