Abstract:
การศึกษาศัยภาพการเฝ้าระวังและการพัฒนารูปแบบการเฝ้าระวังอุบัติภัยจราจรบนถนนในจังหวัดระยอง มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และจำแนกระบบรายงานขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน และออกแบบระบบการเฝ้าระวังการเกิดอุบัติเหตุภัยจราจรบนท้องถนน ที่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ ความพึงพอใจ และระบบรายงานที่มีประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังการเกิดอุบัติภัยทางจราจรในจังหวัดระยอง โดยใช้กระบวนการวิจัยเพื่อค้นหาข้อมูลเบื้องต้น (Exploratory Research) ประกอบกับกระบวนการประชุมกลุ่มเฉพาะ (Focus Group) เพื่อตรวจสอบ ยืนยัน ข้อมูลตามสถานการณ์จริงในจุดเสียงที่มีปัญหาอุบัติเหตุจราจรมากที่สุด 20 อันดับแรก บนถนนสายหลักสาย 3, 36 และ 344 และถนนสายรอง สาย 3191 ในเขตจังหวัดระยอง ในช่วงปี พ.ศ. 2547-2549 กลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้บริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังการเกิดอุบัติเหตุจราจร อาสาสมัครมูลนิธิต่าง ๆ องค์กรภาคเอกชน กลุ่มองค์กรชุมชน และตัวแทนประชาชนทั่วไป
ผลการศึกษา พบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอุบัติเหตุจราจร ได้พยายามสร้งกลไกในการแก้ไข ปัญหาอุบัติเหตุจราจร และเตรียมการรองรับอุบัติเหตุจราจรตามขอบเขต หน้าที่ ความรับผิดชอบ ของหน่วยงานอย่างเต็มความสามารถ แต่ยังขาดการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อย่างบูรณาการ หรือในบางกรณีเกิดความเข้าใจผิดในบทบาทหน้าที่ระหว่างหน่วยงาน และมีการเชื่อมต่อกับภาคประชาชนและชุมชนท้องถิ่นค่อนข้างน้อย จึงทำให้เป็นช่องว่างในการดำเนินการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจร จากสถานการณ์ที่พบจากการศึกษาเบื้องต้น จึงนำไปสู่กระบวนการออกแบบระบบการประสานงานเฝ้าระวังการเกิดอุบัติภัยจราจรบทท้องถนน โดยผลการศึกษาสรุปได้ว่า รูปแบบ แนวทาง ในการประสานเครือข่ายระหว่างหน่วยงาน อาสาสมัครต่าง ๆ และภาคประชาชน จำเป้นต้องให้ทุดส่วนได้เข้าใจบทบาท หน้าที่ ของกันและกัน และให้มีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางการประสานงานหลัก ที่ทุกหน่วยยอมรับ โดยแบ่งการประสานเครือข่ายออกเป็น รูปแบบการประสานเครือข่ายก่อนและหลังการเกิดเหตุ และรูปแบบการประสานเครือข่ายระหว่างเกิดเหตุ และใช้กระบวนการเชื่อมต่อเครือข่าย ดดยการประชาสัมพันธ์ผ่านคลื่นวิทยุ และติดต่อสื่อสารผ่านระบบโทรศัพท์หรือระบบวิทยุสื่อสาร และใช้ฐานข้อมูลร่วมกันผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยมีการซักซ้อมความเข้าใจและติดตามการประสานเครือข่ายด้วยการจัดประชุมติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องทุก ๆ เดือน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในเครือข่าย ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินการเครือข่ายและพัฒนาเครือข่ายก้าวหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง
จากการวิจัย มีข้อเสนอแนะให้สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้บริเวณจุดเสี่ยงต่าง ๆ ได้มีบทบาทร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการกำหนดรูปแบบ ระบบ การประสานงานเครือข่ายการแก้ไขปัญหาและการเฝ้าระวังปัญหาอุบัตเหตุจราจรที่เหมาะสมกับแต่ละสภาพพื้นที่ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีเงื่อนไขการดำเนินการที่แตกต่างกันและสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีบทบาทในการแจ้งข่าวสารแก่หน่วยงานต่าง ๆ ให้มากขึ้น