Abstract:
การวางแผนและออกแบบสถานีรถไฟฟ้า มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบราง การศึกษา และวิเคราะห์พฤติกรรมผู้โดยสารบริเวณสถานี จะช่วยเป็นแนวทางในการวางแผน การกำหนดมาตรฐานในการออกแบบสถานีรถไฟฟ้าและพื้นที่โดยรอบให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในโครงการศึกษานี้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (ITS) ในการสำรวจเก็บข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนาแบบจำลองการเดินทาง คณะวิจัยได้สำรวจข้อมูลลักษณะการขึ้นลงของผู้โดยสารบริเวณสถานีรถไฟฟ้า ในกรณีที่เป็นสถานีเปลี่ยนสายและขบวนรถไฟฟ้า จะมีผู้โดยสารจำนวนมากที่มาใช้สถานี โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน การขึ้นลงของผู้โดยสารมีความหนาแน่นและเบียดเสียด รวมถึงมีความเร่งรีบในการเปลี่ยนถ่ายขบวนในการแบ่งกลุ่มผู้โดยสาร วิธีคลัสเตอร์ C-mean ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้โดยใช้ความเร็วในการเดินทางของผู้โดยสารเป็นค่าคุณลักษณะในการแบ่งกลุ่มผู้โดยสาร ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 (8.346, 57.719) กลุ่มที่ 2 (7.017, 68.434) และกลุ่มที่ 3 (6.032, 79.695) โดยที่ค่า 8.346, 7.017 และ 6.032 เป็นเวลาการเดินทางมีหน่วยเป็นวินาที และค่า 57.719, 68.434 และ 79.695 เป็นความเร็วในการเดินทางมีหน่วยเป็นเมตรต่อนาที นอกจากนี้ การวิเคราะห์ผลด้านการจราจร จะใช้ความเร็ว การไหลของคนเดินเท้าต่อหน้าตัด ซึ่งจะบ่งบอกถึงปริมาณคนเดินเท้าที่เข้าสู่พื้นที่นั้น ๆ รวมถึงสะท้อนให้เห็นถึงระดับการให้บริการของทางเดินของคนเดินเท้าในบริเวณนั้น ๆ นั่นคือ ที่บริเวณชั้นออกบัตรโดยสาร สถานีรถไฟฟ้า กรณีศึกษา ที่บริเวณทางเดินกว้าง 6 เมตร ยาว 10 เมตร โดยเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 15 นาที ที่มีการไหลผ่านหน้าตัด 840 คน คิดเป็นการไหลต่อหน้าตัดเท่ากับ 2.8 คน/นาที/ฟุต ซึ่งคิดเป็นการให้บริการที่สถานีรถไฟฟ้าอยู่ในระดับ A