Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินมูลค่าของทรัพยากรในระบบนิเวศป่าเสม็ดขาวด้านการ กักเก็บคาร์บอนของมวลชีวภาพเหนือผิวดินและคุณค่าของการผลิตน้ำมันหอมระเหย โดยบูรณาการเทคนิคการสำรวจป่าไม้ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศจากหุ่นยนต์อากาศยานขนาดเล็ก และ การวิเคราะห์ทางเคมีดำเนินการสำรวจและเก็บตัวอย่างในช่วงมิถุนายน – ธันวาคม 2559 และ แบ่งพื้นที่ศึกษาตามระบบนิเวศที่แตกต่างกันเป็น 3 พื้นที่คือ สถานีพัฒนาป่าชายเลนที่ 2 (ตัวแทนป่าเสม็ดธรรมชาติ) สวนป่าท่ากุ่มโนโบรุ อุเมดะ (ตัวแทนป่าเสม็ดป่าปลูก) และพื้นที่สนามไชยป่าสาธารณะ (ตัวแทนป่าเสื่อมโทรม) ผลการศึกษาพบว่า 1) สวนป่าท่ากุ่มโนโบรุ อุเมดะ มีปริมาณสะสมคาร์บอนเหนือพื้นดินสูงที่สุด คือ 82.83±0.00 ตันคาร์บอน/เฮกแตร์รองลงมาคือ พื้นที่สถานีพัฒนาป่าชายเลนที่ 2 และพื้นที่สนามไชยป่าสาธารณะ มีปริมาณสะสมคาร์บอนเหนือพื้นดิน 15.03±0.87 และ 3.23±0.20 ตัน คาร์บอน/เฮกแตร์ ตามลำดับ หรือ คิดเป็นมูลค่า 9,564.38, 1,735.51 และ 372.97 บาท/เฮกแตร์ ตามลำดับ โดยอ้างอิงอัตราคาร์บอนเครดิตจากการซื้อขายในตลาดแบบสมัครใจ 2) พื้นที่สถานีพัฒนาป่าชายเลนที่ 2 สามารถผลิตน้ำมันได้ 1.76 กิโลกรัม/เฮกแตร์ คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 4,364.80 บาท/เฮกแตร์ ส่วนพื้นที่สนามไชยป่าสาธารณะสามารถผลิตน้ำมันได้ 2.11 กิโลกรัม/เฮกแตร์ คิดเป็นมูลค่า เท่ากับ 5,232.80 บาท/เฮกแตร์ส่วนพื้นที่สวนป่าท่ากุ่มโนโบรุ อุเมดะ ไม่ได้ประเมินมูลค่าน้ำมันหอมระเหยเนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านการเก็บตัวอย่างใบเสม็ดขาว เมื่อประเมินมูลค่ารวมทั้งหมด พื้นที่สวนป่าท่ากุ่มโนโบรุ อุเมดะ มีมูลค่าสูงที่สุด รองลงมา คือ พื้นที่สถานีพัฒนาป่าชายเลนที่ 2 และพื้นที่สนามไชยป่าสาธารณะ โดยมีมูลค่าโดยรวมเท่ากับ 9,564.38, 6,100.31 และ 5,605.77 บาท/เฮกแตร์ ตามลำดับ