Abstract:
ขลู่ (Pluchea indica (L.) Less วงศ์Asteraceae) ใช้เป็นยาพื้นบ้านและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ในประเทศแถบร้อนและกึ่งร้อน ซึ่งในประเทศไทยใบขลู่จัดเป็นสมุนไพรในสาธารณสุขมูลฐาน และ
ยังนิยมบริโภคเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเช่นในรูปแบบของชาสมุนไพร นอกจากนี้ยังมีรายงานเกี่ยวกับฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากใบขลู่อยู่จำนวนมาก อย่างไรก็ตามยังไม่ปรากฏรายงานเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากใบขลู่ ดังนั้นการศึกษาในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของใบขลู่ ในปีที่สองเป็นการศึกษาถึงพันธุกรรม ฤดูกาล และระยะการเจริญเติบโต ด้านพันธุกรรมได้พัฒนาเครื่องหมายทางพันธุกรรมและวิเคราะห์ลายพิมพ์ดีเอ็นเอของขลู่จากแหล่งต่างๆและได้ขึ้นทะเบียนที่ธนาคารพันธุกรรมโลก (GenBank) เพื่อใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์สายพันธุ์ ด้านปริมาณสารสำคัญและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระพบว่า ปัจจัยด้านฤดูกาลในการเก็บเกี่ยวไม่มีผลโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ปัจจัยด้านระยะการเจริญเติบโตเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงกับคุณภาพของสารสกัด โดยใบอ่อนของขลู่จากทุกตัวอย่างให้ผลทั้งปริมาณสารสำคัญและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าสารสกัดจากใบที่เจริญเติบโตเต็มที่อย่างมีนัย
สำคัญ ด้านการนำสารสกัดใบขลู่มาพัฒนาเป็นลูกอมเม็ดนิ่มได้ทำการทดสอบทั้งสิ้น 12 สูตรตำรับและประเมินคุณภาพในด้านความแปรปรวนของน้ำหนัก ขนาด เนื้อสัมผัสการละลาย และความคงตัว พบว่าในตำรับที่ดีควรใส่ talcum และ HPMC ลงไปเป็นสารช่วยในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้ตำรับมีความคงตัวและไม่รบกวนการปลดปล่อยสารสำคัญ โดยตำรับที่พัฒนาขึ้นมีความคงตัวดีถึงแม้จะเก็บไว้ในสภาวะเร่งที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส 75%RH เป็นเวลา 6 เดือน อย่างไรก็ตามในโครงการต่อไปควรทำการศึกษาถึงความพึงพอใจของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม